เรื่อง การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น ตามแนวคิด
ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือรายวิชา
คณิตศาสตร์5 ค33101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัย นางอุไร อัปมาโน
โรงเรียนโนนกอกวิทยา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น
ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ รายวิชา คณิตศาสตร์5 ค33101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีความมุ่งหมายเพื่อ (1) พัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ รายวิชาคณิตศาสตร์5 ค33101 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75 (2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน (3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนโนนกอกวิทยา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ ที่เรียนวิชาคณิตศาสตร์5 ค33101 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 ห้อง ม.6/1 จำนวน 30 คน ที่ได้มา
โดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ (1) ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ จำนวน 4 ชุด (2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง
การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งเป็นแบบทดสอบแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ และ (3) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นแบบประเมินแบบประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 15 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย
ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าดัชนีความสอดคล้อง ค่าความยากง่าย ค่าอำนาจจำแนก ค่าความเชื่อมั่น การหาค่าประสิทธิภาพ และสถิติทดสอบค่าที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับ
การจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ เท่ากับ 77.75/75.56 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 75/75 ที่ตั้งไว้
2. นักเรียนที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับ
การจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ อยู่ในระดับพอใจมาก
โดยสรุป นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎี
คอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นและมี
ความพึงพอใจในการเรียนรู้ในระดับมาก ดังนั้น ครูควรนำชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดนี้
มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น