ชื่อวิจัย รายงานผลของการจัดกิจกรรมแบบบูรณาการที่ส่งผลต่อทักษะพื้นฐานทาง
วิทยาศาสตร์ด้านมิติสัมพันธ์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 (5-6 ปี) โรงเรียนบ้านภูมิสตึง
ผู้วิจัย นางสาวกฤติมา สืบเสาะเสมอ
ปีที่วิจัย 2560
บทคัดย่อ
การศึกษาผลของการจัดกิจกรรมแบบบูรณาการที่ส่งผลต่อทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์
ด้านมิติสัมพันธ์ ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 (5-6 ปี) โรงเรียนบ้านภูมิสตึง ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระดับทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านมิติสัมพันธ์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 (อายุ 5 - 6 ปี) โรงเรียนบ้านภูมิสตึง ที่ได้รับการจัดประสบการณ์กิจกรรมแบบบูรณาการ และเพื่อเปรียบเทียบ ทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านมิติสัมพันธ์ ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 (อายุ 5 - 6 ปี) โรงเรียน บ้านภูมิสตึง ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์กิจกรรมแบบบูรณาการ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัย กึ่งทดลอง (Quasi - Experimental Research) ดำเนินการทดลองตามแบบแผนการวิจัย One group pretest - posttest design กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ เป็นเด็กชาย - เด็กหญิง ที่กำลังเรียนอยู่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3 (อายุ 5 - 6 ปี) ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนบ้านภูมิสตึง อำเภอลำดวน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1 เป็นการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random sampling) โดยใช้ประชากรทั้งหมด จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวน 24 คน เครื่องมือ ที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการจัดประสบการณ์กิจกรรมแบบบูรณาการ เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านมิติสัมพันธ์ จำนวน 40 แผน 2) แบบประเมินทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านมิติสัมพันธ์ จำนวน 4 ชุด ชุดละ 5 ข้อ รวมทั้งหมด 20 ข้อ การวิเคราะห์ข้อมูลวิเคราะห์โดยการคำนวณหาค่าเฉลี่ย ( ) ร้อยละ (P) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) วิเคราะห์คะแนนความแตกต่างโดยใช้สถิติ t - test Dependent Sample
ผลการวิจัย พบว่า
1. เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 (อายุ 5-6 ปี) โรงเรียนบ้านภูมิสตึง ที่ได้รับการจัดประสบการณ์
กิจกรรมแบบบูรณาการ มีระดับคะแนนทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านมิติสัมพันธ์ก่อนทดลอง โดยรวม ก่อนการทดลอง อยู่ในระดับพอใช้ ( = 9.30 , S.D.= 1.08) หลังการทดลอง อยู่ในระดับ
ดีมาก ( = 17.39 , S.D. = 0.92) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า อยู่ในระดับดีมากทุกด้าน ได้แก่
ด้านการมองวัตถุกับการเคลื่อนไหว ด้านการรับรู้ภาพและพื้นหลังภาพ ด้านการรับรู้ความคงรูป
ของวัตถุ และด้านการรับรู้ตำแหน่งของวัตถุ
2. เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 (อายุ 5 - 6 ปี) โรงเรียนบ้านภูมิสตึง ที่ได้รับการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ มีคะแนนทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านมิติสัมพันธ์ โดยรวมและรายด้าน ได้แก่ ด้านการมองวัตถุกับการเคลื่อนไหว ด้านการรับรู้ภาพและพื้นหลังภาพ ด้านการรับรู้ความคงรูป ของวัตถุ และด้านการรับรู้ตำแหน่งของวัตถุ หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05