ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการสอนโดยใช้สมองเป็นฐานร่วมกับการสอนแบบ SQ4R เพื่อส่งเสริม
ความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ผู้วิจัย กนิษฐา สุขมาก
ปีที่ทำวิจัย 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนารูปแบบการสอนโดยใช้สมองเป็นฐานร่วมกับการสอนแบบ SQ4R เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 2) ออกแบบและพัฒนารูปแบบการสอนโดยใช้สมองเป็นฐานร่วมกับการสอนแบบ SQ4R เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 3) ทดลองใช้รูปแบบการสอนโดยใช้สมองเป็นฐานร่วมกับการสอนแบบ SQ4R เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4) ประเมินผลรูปแบบการสอนโดยใช้สมองเป็นฐานร่วมกับการสอนแบบ SQ4R เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
การวิจัยครั้งนี้ ดำเนินการตามกระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) แบ่งเป็น 4 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสภาพปัญหาในการเรียนรู้และความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษและสภาพการจัดการเรียนการสอนทักษะการอ่านภาษาอังกฤษของครูผู้สอนโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองราชบุรี และศึกษาแนวคิดที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนที่ 2 ออกแบบและพัฒนารูปแบบการสอนและเอกสารประกอบรูปแบบการสอน โดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 ท่านและทดลองนำร่องเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้กับนักเรียนที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 คน ขั้นตอนที่ 3 ทดลองใช้รูปแบบการสอน โดยนำไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 40 คน ขั้นตอนที่ 4 ประเมินผลรูปแบบการสอนโดยสอบถามความพึงพอใจของครูผู้สอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองราชบุรี โรงเรียนละ 1 คน รวม 5 คน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนารูปแบบการสอน พบว่า นักเรียนมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อวิชาภาษาอังกฤษ มีปัญหาในการอ่านภาษาอังกฤษ ขาดความมั่นใจในการอ่าน ไม่สามารถแปลความหมายของคำศัพท์ได้ ต้องการให้ครูปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนหรือวิธีจัดกิจกรรมให้น่าสนใจกว่านี้ ครูผู้สอนใช้เนื้อหาในสื่อการเรียนการสอนจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ครูผู้สอนไม่ได้ออกแบบเนื้อหาในการจัดการเรียนการสอนเอง แต่ยังคงรูปแบบเดิมๆ ผลการศึกษาแนวคิดที่เกี่ยวข้อง พบว่า การสอนโดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain based Learning) เป็นการจัดการเรียนการสอนเพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความสามารถในด้านต่างๆ โดยออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนร่วมกับเทคนิควิธีสอนและสิ่งสนับสนุนต่างๆ ที่เป็นการสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมทางการเรียนให้ผู้เรียนรู้สึกผ่อนคลายและสนใจที่จะเรียนรู้ โดยจัดกิจกรรมผ่านประสาทการรับรู้ทางการฟัง การดูและการเคลื่อนไหว และเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้กระบวนการคิด ส่วนการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการสอนแบบ SQ4R พบว่าเป็นการสอนที่ช่วยพัฒนาความเข้าใจในการอ่าน เป็นเทคนิคการสอนอ่านอย่างคร่าวๆ เพื่อให้ได้คำตอบดังที่ตั้งไว้ ลักษณะการสอนจะเน้นให้นักเรียนได้ศึกษาด้วยตนเอง เน้นการอ่านซ้ำๆ จนกว่าจะเข้าใจเนื้อเรื่องที่อ่าน ครูผู้สอนจะต้องตระหนักถึงความรู้เดิมของผู้เรียนหรือจะต้องปูพื้นฐานเดิมให้กับผู้เรียนก่อนที่จะถึงบทเรียนนั้น อีกอย่างที่ผู้สอนควรคำนึงถึงคือต้องเข้าใจว่าการอ่านเป็นการอ่านเพื่อเนื้อหาสาระ มิใช่สนใจที่ตัวภาษาแต่ในกรณีที่สอนชั้นประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาตอนต้น ผู้สอนต้องให้ความสนใจการวัดความรู้เรื่องคำศัพท์และการใช้ภาษาด้วย
2. รูปแบบการสอนที่พัฒนาขึ้น คือ รูปแบบการสอนโดยใช้สมองเป็นฐานร่วมกับการสอนแบบ SQ4R เพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีองค์ประกอบ 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) เนื้อหา 4) กระบวนการจัดการเรียนรู้ มี 5 ขั้นตอน คือ ขั้นกระตุ้นความคิด (Rouse and Encourage : R) ขั้นเชื่อมโยงประสบการณ์ (Experience Linking : E) ขั้นอ่านอย่างไตร่ตรอง (Accurate Reading : A) ขั้นสะท้อนบทเรียน (Drills Activities : D) ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Share Ideas : S) และ 5)การวัดและประเมินผล การตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการสอนโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่ามีความเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (X - = 4.60 , S.D. = 0.09) ผลการทดลองนำร่องเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ พบว่า รูปแบบการสอนมีประสิทธิภาพเท่ากับ 80.58 /80.89 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด และยังพบว่า กิจกรรมตามกระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบการสอนที่พัฒนาขึ้นมีระบบเป็นขั้นตอน สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างต่อเนื่อง
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการสอน พบว่า ความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หลังเรียนด้วยรูปแบบการสอนโดยใช้สมองเป็นฐานร่วมกับการสอนแบบ SQ4R สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยรูปแบบการสอนโดยรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมาก (X - = 4.44, S.D. = 0.04)
4. ผลการประเมินรูปแบบการสอนพบว่า ครูผู้สอนมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการสอนโดยใช้สมองเป็นฐานร่วมกับการสอนแบบ SQ4R โดยรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด (X -= 4.94, S.D. = 0.05)