ชื่อผลงาน
รายงานการประเมินผลการนิเทศโครงการแข่งขันทักษะทางวิชาการของเทศบาลนครแม่สอดด้วยกระบวนการนิเทศแบบ PIDRE โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPPIEST
ชื่อผู้ศึกษา นางสาวสีแพ ตันมา
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การประเมินครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการแข่งขันทักษะทางวิชาการของเทศบาลนครแม่สอด ปีการศึกษา 2562 ด้วยกระบวนการนิเทศแบบ PIDRE โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPPIEST มีวัตถุประสงค์เฉพาะ เพื่อ 1) ประเมินบริบท 2) ประเมินปัจจัยนำเข้า 3) ประเมินกระบวนการ และ 4) ประเมินผลลัพธ์ ซึ่งได้แก่ ผลกระทบ ประสิทธิผล ความยั่งยืน และการถ่ายทอดส่งต่อ ผู้ให้ข้อมูลทั้งหมด 403 คน ประกอบด้วย นักเรียน จำนวน 270 คน ครู จำนวน 117 คน หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 5 คน และผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 11 คน เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย แบบสอบถามความคิดเห็น และการรวบรวมสารสนเทศ สถิติที่ใช้ได้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า IOC และการวิเคราะห์สารสนเทศ ผลการประเมินพบว่า
ผลการวิเคราะห์ระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการแข่งขันทักษะทางวิชาการของเทศบาลนครแม่สอด โดยภาพรวม พบว่าระดับความคิดเห็นมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.44 โดยความคิดเห็นของครู หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และผู้บริหารสถานศึกษา มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.48 และความคิดเห็นของนักเรียน มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.41 และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าระดับความคิดเห็นมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ได้แก่ ด้านการถ่ายทอดส่งต่อ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.53 รองลงมา คือ ด้านผลลัพธ์
และด้านความยั่งยืน มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.49
ผลการวิเคราะห์สารสนเทศจากการประเมินผลการนิเทศโครงการแข่งขันทักษะทางวิชาการของเทศบาลนครแม่สอด ด้วยกระบวนการนิเทศแบบ PIDRE โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPPIEST ในครั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลด้านสารสนเทศของผู้เข้าร่วมโครงการแข่งขันทักษะทางวิชาการ ในการดำเนินการนิเทศจากข้อมูลและความต้องการของโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดเทศบาลนครแม่สอด มีการวางแผนการนิเทศ (Planning : P) ทำการประชุมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่งปัญหา และความต้องการการกำหนดระยะเวลาในการแข่งขันเพื่อหาตัวแทนนักเรียน และครูเข้าร่วมการประกวดแข่งขันร่วมกันในการประชุมคณะกรรมการประสานงานวิชาการการจัดการศึกษาท้องถิ่น ระดับเทศบาล การให้ความรู้ในสิ่งที่จะทำ (Informing : I) การให้ความรู้ความเข้าใจถึงสิ่งที่จะดำเนินการว่าจะต้องอาศัยความรู้ ความสามารถอย่างไรบ้าง จะมีขั้นตอนในการดำเนินการอย่างไร และทำอย่างไรจึงจะทำให้ผลงานออกมาอย่างมีคุณภาพ การศึกษาคู่มือหลักเกณฑ์การแข่งขัน เกณฑ์การให้คะแนนร่วมกับครูผู้ฝึกสอน การปฏิบัติ (Doing : D) การประชุมชี้แจง การศึกษาคู่มือหลักเกณฑ์การแข่งขัน เกณฑ์การให้คะแนนร่วมกับครูผู้ฝึกสอน การคัดเลือกตัวแทนนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันแต่ละรายการให้คำนึงถึงเหมาะสม ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกอยู่ในเกณฑ์การแข่งขัน ถูกต้องตามรูปแบบของการจัดทำรายงานโครงงานฉบับสมบูรณ์ ตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกต้องพัฒนา ปรับปรุงผลงานตามคำแนะนำของคณะกรรมการตัดสินการแข่งขัน การให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือในด้านความรู้
การค้นหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เทคนิคการนำเสนอผลงาน การประสานงาน ให้ข้อมูลการจัดการแข่งขันในระดับภาคเหนือ ระดับประเทศ การสร้างขวัญ และกำลังใจ (Reinforcing : R) กระตุ้นให้ครู และนักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมการแข่งขันทักษะทางวิชาการ
เห็นความสำคัญของการพัฒนาต่อยอดความคิด เสริมสร้างศักยภาพที่มีในตนเอง แสดงออกในเวทีของงานวิชาการได้อย่างสร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพ การเสริมกำลังใจโดยเชิญผู้บริหารเทศบาล พบปะ พูดคุย จัดกิจกรรมประกาศเกียรติคุณแก่นักเรียน ครูผู้เข้าร่วมโครงการแข่งขันทักษะทางวิชาการ
มีความมั่นใจ และเกิดความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน เพื่อเปิดมุมมองใหม่ในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เทคนิคที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ส่งผลให้ครูและนักเรียนมีประสบการณ์สามารถพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นไป การประเมินผลผลิตของการดำเนินงาน (Evaluation : E) ผู้นิเทศทำการสรุปผลการประกวดแข่งขัน และรายงานผู้บริหารประเมินผลการดำเนินโครงการเพื่อสรุปปัญหา หรืออุปสรรค ข้อเสนอแนะที่ทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ และเพื่อทำการปรับปรุงแก้ไขโครงการในครั้งต่อไป