ชื่อเรื่อง รายงานผลการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพของโรงเรียน
ขุนห้วยบ้านรุ่ง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2
โดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model)
ชื่อผู้ประเมิน สมชาย โตเหี้ยม ตำแหน่ง ผู้อำนวยการชำนาญการ
ปีที่ทำการศึกษา พ.ศ. 2561
บทคัดย่อ
การประเมินครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ของการประเมิน เพื่อประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพของโรงเรียนขุนห้วยบ้านรุ่ง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2
โดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 124 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive sampling) จำแนกเป็นคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 คน ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 1 คน ครูผู้สอน จำนวน 10 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 52 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 52 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการเป็นแบบสอบถาม ชนิดมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ตามแบบของลิเคิร์ท (Likert) 5 ระดับ คือ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย น้อยที่สุด จำนวน 4 ฉบับ ฉบับที่ 1
แบบประเมินด้านบริบท มี 5 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อระหว่าง .64 ถึง .83 มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.89 ฉบับที่ 2 แบบประเมินด้านปัจจัยนำเข้ามี 6 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อระหว่าง .64 ถึง .81 มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.90 ฉบับที่ 3 แบบประเมินด้านกระบวนการมี 18 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อระหว่าง .43 ถึง .86 มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.96 และฉบับที่ 4 แบบประเมินด้านผลผลิตมี 18 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อระหว่าง .60 ถึง .90 มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.97 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินพบว่า
1. ด้านบริบท ผลการประเมินมีความสอดคล้องนโยบายโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร มีการจัดทำโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพและโรงเรียนมีการประชาสัมพันธ์โครงการให้แก่บุคลากรในโรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และนักเรียนทราบ ผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมาก
2. ด้านปัจจัยนำเข้า ผลการประเมินความพร้อมของบุคลากร การจัดสภาพแวดล้อม
ในโรงเรียนที่เอื้อต่อการพัฒนาสุขภาพของนักเรียนและการจัดบริการอนามัยแก่นักเรียน
ผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมาก
3. ด้านกระบวนการ ผลการประเมินการบริหารจัดการในโรงเรียน ดำเนินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพจากความร่วมมือจากบุคลากรหลายภาคส่วน และมีการประเมินผลโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบ ผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมาก
4. ด้านผลผลิต ผลการประเมินสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนได้ตามมาตรฐาน นักเรียนได้รับ
การติดตามดูแลและเฝ้าระวังในเรื่องสุขภาพและได้รับบริการเรื่องอาหารกลางวันที่มีคุณค่าตามหลักโภชนาการ ผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมาก