ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิด
กลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัย นางรัตนา วชิราสุริยา
ปีที่ทำวิจัย 2561
บทคัดย่อ
การดำเนินการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาข้อมูลฟื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบบันทึกการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) 2) แบบสัมภาษณ์เชิงลึก 2. เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบบันทึกการประชุมแบบมีส่วนร่วม 2) แบบประเมินร่างรูปแบบการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 3. เพื่อการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง บทประยุกต์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 17 แผน จำนวน 17 ชั่วโมง 2) แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง บทประยุกต์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยจัดการเรียนรู้แบบปกติ จำนวน 17 แผน จำนวน 17 ชั่วโมง 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และคำตอบจะเป็นแบบปรนัย 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ 4) แบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยลักษณะของแบบทดสอบแบบอัตนัยเขียนตอบเน้นกระบวนการคิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ประกอบด้วย 4 ขั้นคือ 1) ทำความเข้าใจปัญหา 2) วางแผนแก้ปัญหา 3) ดำเนินการตามแผน และ 4) ตรวจสอบผล จำนวน 8 ข้อ 4. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนต่อการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 20 ข้อ
การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การหาประสิทธิภาพ การทดสอบค่าที และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. การศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า
1.1 รูปแบบการจัดการเรียนรู้ มี องค์ประกอบ 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 หลักการ ส่วนที่ 2 วัตถุประสงค์ ส่วนที่ 3 ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ (มี 6 ขั้นคือ 1. ขั้นทบทวนบทเรียน 2. ขั้นนำเสนอปัญหาปลายเปิด 3. ขั้นเรียนรู้ 4. ขั้นการอภิปรายวิธีการแก้ปัญหา 5. ขั้นเปรียบเทียบแนวคิดในชั้นเรียน 6. ขั้นสรุปประเด็นสำคัญ) ส่วนที่ 4 การประเมินผล
1.2 จากการประชุมกลุ่มย่อยของผู้ทรงคุณวุฒิและสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้วิจัยนำมาสังเคราะห์เนื้อหาสามารถสรุปได้ดังนี้
1.2.1 การจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์เป็นการจัดการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และสอดคล้องกับแนวการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
1.2.2 เทคนิคการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ จะเน้นให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ในกลุ่ม ได้เคลื่อนไหวร่างกายได้ลงมือปฏิบัติและสรุปความรู้ด้วยตนเอง โดยให้นักเรียนได้เรียนอย่างกระตือรือร้นและมีความสุขในการเรียน ได้แก่ การสอนโดยการจับคู่ เพื่อนช่วยเพื่อน การสอนโดยใช้กระบวนการกลุ่ม การสอนโดยใช้ความร่วมมือ การสอนโดยใช้เกม เพลง การสรุปความคิดรวบยอดโดยใช้แผนผังความคิดหรือแผนภาพกราฟิก
1.2.3 แนวทางหรือรูปแบบในการจัดการเรียนรู้ เริ่มจากขั้นนำโดยการกำหนดปัญหา กำหนดสถานการณ์ โดยให้นักเรียนแก้ปัญหาหรือหาความรู้เป็นกลุ่มโดยได้แสดงความคิดเห็นหรือแสดงออก จากนั้นร่วมกันสรุปองค์ความรู้โดยมีการนำเสนอ การอภิปรายในชั้นเรียน และสุดท้ายเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้
2. การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า
2.1 ผลการร่างรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้องค์ประกอบดังนี้
1) หลักการ : กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ โดยมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน มีการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง โดยมีครูคอยชี้แนะการเรียนรู้ผ่านการตั้งคำถามด้วยสถานการณแบบเปิด นักเรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองและสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
2) วัตถุประสงค์ : เพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์
3) ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ มี 6 ขั้น ดังนี้
ขั้นที่ 1 ขั้นทบทวนบทเรียน เป็นขั้นที่ครูผู้สอนทบทวนเนื้อหาที่ผ่านมา แล้วแบ่งกลุ่มๆ ละประมาณ 3-5 คน แบบคละความสามารถ
ขั้นที่ 2 ขั้นนำเสนอปัญหาปลายเปิด เป็นขั้นตอนที่ครูผู้สอนนำเสนอปัญหาปลายเปิดให้นักเรียนแต่ละกลุ่มได้เผชิญปัญหา โดยที่ครูผู้สอนไม่ได้แนะวิธีการแก้ปัญหาให้กับนักเรียน ลักษณะของปัญหาอยู่ในรูปของสถานการณ์ แล้วมอบหมายงานให้นักเรียนร่วมกันปฏิบัติ
ขั้นที่ 3 ขั้นเรียนรู้ เป็นขั้นที่นักเรียนแต่ละกลุ่มหาวิธีที่หลากหลายเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาโดยนักเรียนในกลุ่มแต่ละคนเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไปตามความสามารถและประสบการณ์เดิมของแต่ละบุคคลแล้วช่วยกันอภิปรายจนได้ข้อสรุปของกลุ่มว่าเลือกวิธีใด
ขั้นที่ 4 ขั้นการอภิปรายวิธีการแก้ปัญหา เป็นขั้นที่หลังจากที่นักเรียนแต่ละกลุ่มได้แก้ปัญหาเสร็จแล้ว ในห้องเรียนจะมีการนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาของแต่ละกลุ่มๆ ละ 1 วิธีการ แล้วอภิปรายร่วมกันถึงวิธีการนั้นๆถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่ได้ว่าเหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่เพียงใด
ขั้นที่ 5 ขั้นเปรียบเทียบแนวคิดในชั้นเรียน เป็นขั้นที่แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอวิธีการแก้ปัญหาจากสถานการณ์ที่กำหนดให้หน้าชั้นเรียนนักเรียนร่วมกันอภิปรายถึงวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นที่สุด ครูผู้สอนหรือนักเรียนควรเขียนแนวคิดของแต่ละกลุ่มที่มีวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันออกไปบนกระดานเพื่อให้นักเรียนทุกคนได้เห็นถึงแนวคิดที่หลากหลายนั้น แล้วครูทำการเปรียบเทียบแนวคิดของนักเรียนถึงความเหมือนและความต่างของแนวคิดนั้นๆ ครูควรส่งเสริมแนวคิดที่หลากหลายของนักเรียนในทางบวก พร้อมทั้งแนะนำ และปรับเปลี่ยนตามความคิดเห็นของนักเรียนคนอื่นๆ
ขั้นที่ 6 ขั้นสรุปประเด็นสำคัญ เป็นขั้นที่ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปบทเรียนและประเมินผลการทำงานกลุ่ม โดยให้นักเรียนร่วมกันอภิปรายถึงกระบวนการทำงานและข้อบกพร่องและแนวทางในการแก้ไขในการทำงานร่วมกัน
4) การประเมินผล
4.1) การวัดประเมินผลก่อนการเรียนการสอน ใช้แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทาง การเรียน แบบเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ และแบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แบบอัตนัย จำนวน 5 ข้อ
4.2) การวัดประเมินผลระหว่างการเรียนการสอน ใช้แบบสังเกตพฤติกรรมระหว่างเรียน แบบประเมินทักษะกระบวนการ และการทดสอบย่อยระหว่างเรียนด้วยแบบฝึกทักษะ
4.3) การวัดประเมินผลหลังการเรียนการสอน ใช้แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทาง การเรียน แบบเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ และแบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แบบอัตนัย จำนวน 5 ข้อ
2.2 ความเหมาะสมของรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และแผนการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
3. ผลการทดลองรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า
3.1 ประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่พัฒนาขึ้นมีค่า 81.94/81.04 เป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
3.2 นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.3 นักเรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ หลังเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.4 นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ ตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิดผสานแนวคิดกลุ่มร่วมมือมีความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ สูงกว่านักเรียนที่เรียนแบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ความพึงพอใจของนักเรียนต่อการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผสานกลุ่มร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยรวมอยู่ในระดับมาก