ชื่อเรื่อง การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกตามแนวอะคิตะ (Akita Action) เพื่อส่งเสริม
ความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
เรื่อง เศษส่วน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัย นางรัตนา วชิราสุริยา
ปีที่ทำวิจัย 2562
บทคัดย่อ
การดำเนินการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกตามแนวอะคิตะ (Akita Action) เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกตามแนวอะคิตะ (Akita Action) เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 3) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกตามแนวอะคิตะ (Akita Action) เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกตามแนวอะคิตะ (Akita Action) เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 โรงเรียนเทศบาล 1 “บุรีราษฎร์ดรุณวิทยา” อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 48 คน ซึ่งได้มาจาก การสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกตามแนวอะคิตะ (Akita Action) เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีระดับความเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง เศษส่วน วิชาคณิตศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นแบบปรนัย ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าดัชนีความสอดคล้อง .60 - 1.00 มีค่าความยากง่ายอยู่ระหว่าง .23 - .77 มีค่าอำนาจจำแนก .38 - .75 และค่าความเชื่อมั่น .88 3) แบบทดสอบความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นแบบอัตนัย จำนวน 5 ข้อ มีค่าดัชนีความสอดคล้อง .80 - 1.00 4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกตามแนวอะคิตะ (Akita Action) เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 20 ข้อ มีค่าดัชนีความสอดคล้อง .60 - 1.00 มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อ .22–.81
และค่าความเชื่อมั่น .86
การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าประสิทธิภาพ ดัชนีประสิทธิผล และการทดสอบค่าที
ผลการวิจัยพบว่า
1. ประสิทธิภาพของกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกตามแนวอะคิตะ (Akita Action) เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์เรื่อง เศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่พัฒนาขึ้นมีค่า 83.33/82.99 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2. ค่าดัชนีประสิทธิผลจากการเรียนโดยใช้การเรียนรู้ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกตามแนวอะคิตะ (Akita Action) เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีค่า .7763 แสดงว่านักเรียนมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน เพิ่มขึ้นจากการก่อนเรียน ร้อยละ 77.63
3. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนด้วยการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกตามแนวอะคิตะ (Akita Action) เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หลังเรียน สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกตามแนวอะคิตะ (Akita Action) เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยรวมอยู่ในระดับมาก