บทคัดย่อ
ชื่องานวิจัย รูปแบบการบริหารโรงเรียนสุขภาวะเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียน
บ้านทุ่งยาวคำโปรย
ผู้วิจัย ดร.กัมพล เจริญรักษ์
ปีที่พิมพ์วิจัย2562
การวิจัยและพัฒนารูปแบบการบริหารโรงเรียนสุขภาวะเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรย มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารโรงเรียนสุขภาวะเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรย 2) เพื่อปฏิบัติการและศึกษาผลปฏิบัติการใช้รูปแบบตามวงจรของเคมมิสและแม็คทักการ์ท 3) เพื่อประเมินผลการดำเนินการตามรูปแบบ และ 4) เพื่อศึกษาขวัญกำลังใจของครูและความพึงพอใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง การดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การสร้างรูปแบบการบริหารโรงเรียนสุขภาวะ ระยะที่ 2 การนำรูปแบบไปใช้ตามวงจรปฏิบัติการของเคมมิสและแม็คทักการ์ท (Kemmis & McTaggart) ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ การวางแผน (Planning) การปฏิบัติตามแผน (Action) การสังเกตผล (Observation) และการสะท้อนผล (Reflection) ปฏิบัติการ 2 วงจร คือ วงจรที่ 1 ปีการศึกษา 2559-2560 และวงจรที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ระยะที่ 3 การประเมินผลการดำเนินการตามรูปแบบ และระยะที่ 4 การศึกษาขวัญกำลังใจของครูและบุคลากรทางการศึกษาและความพึงพอใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบบันทึกการวิพากษ์ แบบประเมินรูปแบบการบริหารโรงเรียนสุขภาวะ แบบประเมินผลการดำเนินโครงการ แบบสอบถามการมีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียนสุขภาวะ แบบประเมินผลการดำเนินงานของโรงเรียนสุขภาวะ แบบสอบถามขวัญกำลังใจของครูและบุคลากรทางการศึกษาและแบบวัดความพึงพอใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เก็บรวบรวมข้อมูลกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง คือ นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กรรมการที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติพื้นฐาน คือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และร้อยละ ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา
สรุปผลการวิจัย
1. ผลการพัฒนารูปแบบการบริหารโรงเรียนสุขภาวะเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรย ประกอบด้วยกลยุทธ์ในการพัฒนา 4 กลยุทธ์ คือ 1) กลยุทธ์การพัฒนาศักยภาพครู 2) กลยุทธ์การสร้างศรัทธา 3) กลยุทธ์การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ และ 4) กลยุทธ์ความเป็นหุ้นส่วน
2. ผลการดำเนินการตามกลยุทธ์ของรูปแบบการบริหารโรงเรียนสุขภาวะเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรย จำนวน 14 โครงการ พบว่า ผลการดำเนินโครงการในวงจรที่ 1 ทั้ง 14 โครงการ มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมากทุกโครงการ และในวงจรที่ 2 มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมากและมากที่สุด และมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่าวงจรที่ 1 ทุกโครงการ และ ผลการสัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้ ผลที่เกิดกับนักเรียน พบว่า นักเรียนกล้าคิด กล้าพูด กล้าถามกล้าแสดงออกมากขึ้น รู้จักการรอคอย สนุกกับการเรียนรู้ ไม่กดดัน อยากมาโรงเรียน มีแรงบันดาลใจในการเรียน เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี เรียนรู้จากการลงมือทำ ทำงานเป็นทีม รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีมารยาท มีสัมมาคารวะ ปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกัน มีเหตุผลมากขึ้น ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น เกิดทักษะการเรียนรู้ สามารถเชื่อมโยงกับชีวิตจริงได้ ภูมิใจในผลงานหรือชิ้นงานที่ตนเองหรือกลุ่มทำขึ้น ชื่นชมยินดีกับผู้อื่น นักเรียนเริ่มมีความไว้วางใจครูมากขึ้น นักเรียนกับครูเรียนรู้ไปด้วยกัน นักเรียนมีความสุข ผลที่เกิดจากการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา พบว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาตนเองมีการพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เตรียมผู้เรียนสู่กระบวนการเรียนรู้ด้วยจิตศึกษา มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยชุมชนวิชาชีพสม่ำเสมอ จนสามารถปรับเปลี่ยนวิธีเรียนวิธีการสอน สามารถออกแบบกิจกรรมได้หลากหลายสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันของโรงเรียน มีการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน นอกจากนี้ยังพบว่า ครูมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันมากขึ้น
ผลของการจัดการสภาพแวดล้อมและการสร้างบรรยากาศในโรงเรียน พบว่า โรงเรียนได้พัฒนาสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียน ปรับปรุงอาคารสถานที่ต่าง ๆ ให้เหมาะสม สวยงาม มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ มีบรรยากาศเป็นมิตร รู้สึกปลอดภัยและสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียนได้ทุกที่ ผลที่เกิดจากการส่งเสริมความร่วมมือกับครอบครัวและชุมชน พบว่า ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียนมากขึ้น ผู้ปกครองมีความตระหนักให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าชิ้นงานของบุตรหลานตนเอง และมีการระดมทรัพยากรจากแหล่งต่าง ๆ ในชุมชนมาใช้ในการจัดการศึกษา ช่วยเหลืองานโรงเรียนด้านต่าง ๆ ตลอดจนมีการถอดบทเรียนและสร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครัวและชุมชน
3. ผลการศึกษาการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรยในด้านต่าง ๆ 4 ด้าน พบว่า ค่าเฉลี่ยความคิดเห็นของครูและบุคลากรทางการศึกษา กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน ก่อนและหลังการใช้รูปแบบการบริหารโรงเรียนสุขภาวะเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรย มีค่าเฉลี่ยแต่ละด้านที่เพิ่มขึ้นทุกด้าน ผลการเปรียบเทียบการดำเนินงานของโรงเรียนสุขภาวะด้านนักเรียนมีสุขภาะ พบว่าปีการศึกษา 2561 นักเรียนมีสุขภาวะเพิ่มขึ้นกว่าปีการศึกษา 2560 ทุกตัวบ่งชี้ และผลการเปรียบเทียบการดำเนินงานของโรงเรียนสุขภาวะ 4 ด้าน พบว่า ระดับคะแนนเฉลี่ยโดยรวมของตัวบ่งชี้ การดำเนินงานโรงเรียนสุขภาวะในปีการศึกษา 2561 สูงกว่าระดับคะแนนเฉลี่ยโดยรวมของการดำเนินงานโรงเรียนสุขภาวะในปีการศึกษา 2560
4. ผลการศึกษาขวัญกำลังใจของครูและบุคลากรทางการศึกษา พบว่า มีเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ขวัญกำลังใจของครูและบุคลากรทางการศึกษามีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 4.254.92 ผลการศึกษาความพึงพอใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พบว่า ความพึงพอใจของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีต่อรูปแบบการบริหารโรงเรียนสุขภาวะเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรย มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุดทุกข้อ ความพึงพอใจของกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและกรรมการ ที่ปรึกษาที่มีต่อรูปแบบการบริหารโรงเรียนสุขภาวะเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรย มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุดทุกข้อ และความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการบริหารโรงเรียนสุขภาวะเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนบ้านทุ่งยาวคำโปรย มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมาก