การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาในการจัดกิจกรรมการ
เรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 2) พัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะงานประดิษฐ์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะงานประดิษฐ์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่พัฒนาขึ้น ดังนี้ 3.1) หาประสิทธิภาพด้านกระบวนการและผลลัพธ์ของรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะงานประดิษฐ์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 3.2) เปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน 3.3) เปรียบเทียบทักษะงานประดิษฐ์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน 3.4) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ แบ่งเป็น
3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ครูผู้สอนวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี จำนวน 4 คน นักเรียน จำนวน 10 คน จากโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี ภาคเรียนที่ 1
ปีการศึกษา 2560 ได้ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง และกลุ่มตัวอย่างใช้ทดสอบวัดพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์และทักษะงานประดิษฐ์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 63 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม ระยะที่ 2 กลุ่มตัวอย่างเพื่อทดลองใช้รูปแบบ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/2 โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมหาราชา มีจำนวน 36 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 36 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม ระยะที่ 3 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ศึกษาผลการใช้รูปแบบ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/1 จำนวน 36 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมหาราชา สังกัดเทศบาลเมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) รูปแบบการเรียนที่พัฒนาขึ้น 2) แบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ จำนวน 4 ข้อ 3) แบบวัดทักษะงานประดิษฐ์ 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 30 ข้อ ค่าความยากง่ายตั้งแต่ 0.46 - 0.77 ค่าอำนาจจำแนก ตั้งแต่ 0.25 - 0.80 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.94 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบด้วย t-test (Dependent Sample)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี พบว่า ปัจจุบันการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ยังไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากกิจกรรมที่ครูผู้จัดให้นักเรียนยังเน้นการอธิบาย ปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่างแล้วนักเรียนปฏิบัติตาม จึงไม่สามารถที่จะเชื่อมโยงไปสู่การคิดสร้างสรรค์ให้บรรลุเป้าหมายได้ ครูยังให้ความสำคัญกับลำดับขั้นตอน แล้วนักเรียนปฏิบัติตามขั้นตอนที่ครูอธิบายเพื่อให้ได้ชิ้นงานที่ถูกต้อง ไม่ได้สนับสนุนและเปิดโอกาสให้นักเรียนคิดหาแนวทาง แบบแผนการปฏิบัติที่แตกต่างหลากหลายด้วยวิธีการแบบใหม่ อีกทั้งนักเรียนจดจำวิธีการปฏิบัติวิธีตามขั้นตอนที่ครูอธิบายแนะนำไว้เท่านั้น ขาดการฝึกคิดค้นหาวิธีการตามแนวทางใหม่ จึงส่งผลให้นักเรียนขาดโอกาสได้รับการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์และทักษะปฏิบัติที่ดี
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะงานประดิษฐ์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พบว่า รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มีองค์ประกอบดังนี้ 1) หลักการ แนวคิด และทฤษฎีพื้นฐาน
2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 3) ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 4) ระบบสังคม 5) หลักการตอบสนอง และ 6) ระบบสนับสนุน โดยมีขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 4 ขั้น ประกอบด้วย
ขั้นที่ 1 นำเข้าสู่บทเรียน ขั้นที่ 2 จัดการเรียนรู้ ขั้นที่ 3 สรุปและนำหลักการไปประยุกต์ใช้ ขั้นที่ 4 วัดและประเมินผล ซึ่งผลการศึกษาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะงานประดิษฐ์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ของกลุ่มนักเรียนที่ทดลองใช้ (Try-out) มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 81.76/81.45 ซึ่งมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
3. ผลการใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เพื่อ
เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะงานประดิษฐ์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พบว่า
1) ประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น
มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 83.06/83.13 ซึ่งมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์เฉลี่ย
หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบ
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น มีทักษะงานประดิษฐ์เฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 4) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05