บทคัดย่อ
รายงานผลการประเมินโครงการครั้งนี้ เป็นการรายงานผลการประเมินโครงการส่งเสริมสุขภาพนักเรียนโรงเรียนวัดโรงธรรม มิตรภาพที่ 70 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสงคราม ปีการศึกษา 2561 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินด้านบริบท (Context Evaluation) ประเมินด้านปัจจัยนำเข้า(Input Evaluation) ด้านกระบวนการดำเนินงาน (Process Evaluation) และด้านผลผลิต (Product Evaluation) ของโครงการโดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPP ของ ดีแอลสตัฟเฟิลบีม และคณะ (D.L.Stufflebeam and Others,1971:216-265) มาเป็นรูปแบบในการประเมิน ประชากรที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย ผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนวัดโรงธรรม มิตรภาพที่70 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสงคราม รวมทั้งสิ้นจำนวน 148 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ประกอบด้วยแบบสอบถาม จำนวน 6 ฉบับ ดังนี้ 1)ประเมินด้านบริบทตามความคิดเห็นของผู้ปกครอง มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.79 2)ประเมินด้านบริบทตามความคิดเห็นของผู้บริหาร ครูและคณะกรรมการสถานศึกษา มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.75 3)ประเมินด้านปัจจัยนำเข้า มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.77 4)ประเมินด้านกระบวนการดำเนินงาน มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.97 5)ประเมินด้านผลผลิต มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.72 และ 6)ประเมินความพึงพอใจ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.72 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบประเมินโครงการแบบมาตราส่วนประมาณค่า วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินพบว่า
1.ด้านบริบทของโครงการ (Context evaluation) พบว่า ผู้ปกครองมีความคิดเห็นต่อบริบทของโครงการในภาพรวม ความสอดคล้อง อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ความต้องการของผู้ปกครองในการเสริมสร้างสุขภาพนักเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ ปัญหาและความจำเป็นอยู่ในระดับมาก ส่วนผู้บริหาร ครู และคณะกรรมการสถานศึกษา มีความคิดเห็นต่อบริบทของโครงการในภาพรวม ความสอดคล้องอยู่ในระดับมากที่สุด โดยพบว่าด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ความสอดคล้องกับนโยบายการศึกษาอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ ปัญหาและความจำเป็นอยู่ในระดับมากที่สุด และความสอดคล้องของวัตถุประสงค์โครงการอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ความต้องการของครูในการเสริมสร้างสุขภาพนักเรียนอยู่ในระดับมากที่สุด
2. ด้านปัจจัยนำเข้า (Input evaluation) พบว่า ผู้บริหาร และครู มีความคิดเห็นต่อด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการในภาพรวม ความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก โดยพบว่าด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ความพอเพียงของสื่อ วัสดุอุปกรณ์และอาคารสถานที่ อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือรูปแบบการบริหารที่เอื้อต่อการจัดกิจกรรม อยู่ในระดับมากที่สุด และ ความพอเพียงของงบประมาณ อยู่ในระดับมาก ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ความพร้อมและความเหมาะสมของบุคลากร อยู่ในระดับมาก
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process evaluation) พบว่า พบว่า ผู้บริหาร และครู มีความคิดเห็นต่อด้านกระบวนการดำเนินงานของโครงการในภาพรวม ระดับปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด โดยพบว่าด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ การดำเนินงาน(Do)อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ การกำกับนิเทศติดตามและประเมินผล(Check)อยู่ในระดับมากที่สุด และการวางแผน(Plan)อยู่ในระดับมาก ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ การปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานและรายงานผล (Action)อยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product evaluation) พบว่า ด้านผลผลิตของโครงการ ระดับความคิดเห็น ในภาพรวมทุกองค์ประกอบ มีระดับความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยพบว่าองค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ด้านโครงการร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับชุมชน อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือด้านนโยบายอยู่ในระดับมากที่สุด และ ด้านการออกกำลังกาย กีฬาและนันทนาการอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ด้านสุขศึกษาในโรงเรียนอยู่ในระดับมาก
5. ผลการประเมินความพึงพอใจของตามความคิดเห็นของผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และนักเรียน มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อเรียงลำดับจากค่าเฉลี่ยมากไปน้อยตามลำดับได้แก่ ผู้ปกครอง ชุมชน มีความพึงพอใจในพฤติกรรมที่ดีของนักเรียนอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือกิจกรรมของโครงการมีความหลากหลายเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน อยู่ในระดับมากที่สุด และ โครงการส่งเสริมนักเรียนให้มีทักษะการดูแลตนเอง อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ นักเรียนนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ดี อยู่ในระดับมาก