การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายการวิจัย คือ
1. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนกับหลังเรียน รายวิชาภาษาไทย 5 (ท33101) หน่วยการเรียนรู้ภาษาสื่อสารและงานพัฒนาทักษะ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยประยุกต์ใช้ Google Apps for Education และแผนที่ความคิด (mind map) ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
2. เพื่อเปรียบเทียบเจตคติต่อวิชาภาษาไทยระหว่างก่อนเรียนกับหลังเรียน รายวิชาภาษาไทย 5 (ท33101) หน่วยการเรียนรู้ภาษาสื่อสารและงานพัฒนาทักษะ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยประยุกต์ใช้ Google Apps for Education และแผนที่ความคิด (mind map) ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 3. เพื่อศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ Google Apps for Education ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ รายวิชาภาษาไทย 5 (ท33101) หน่วยการเรียนรู้ภาษาสื่อสารและงานพัฒนาทักษะ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร จำนวนนักเรียน 41 คน ได้มาด้วยการสุ่มอย่างง่ายโดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม
ผลการวิจัยพบว่า
1. การประยุกต์ใช้ Google Apps for Education และแผนที่ความคิด (mind map) ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานข้อที่ 1
2. การประยุกต์ใช้ Google Apps for Education และแผนที่ความคิด (mind map) ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ทำให้นักเรียนมีเจตคติต่อรายวิชาภาษาไทยหลังเรียนดีกว่าก่อนเรียน
อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานข้อที่ 2
3. คะแนนความคิดเห็นเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ Google Apps for Education ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยรวมมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.41 และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.78
นั่นคือ นักเรียนเห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยประยุกต์ใช้ Google Apps for Education