ชื่อเรื่อง การพัฒนาทักษะการฟังและการพูด โดยใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง
ท่องสนุกสำหรับเด็กปฐมวัย
ผู้วิจัย นางสุพรรณี สิทธิสุข
ตำแหน่ง ครูผู้ดูแลเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโศกขามป้อม
องค์การบริหารส่วนตำบลภูผาหมอก อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาหนังสือภาพประกอบคำคล้องจองท่องสนุก ในการส่งเสริมทักษะด้านการฟังและการพูดสำหรับเด็กปฐมวัย ให้มีประสิทธิภาพ กำหนดตามเกณฑ์ 80/80 เพื่อศึกษาค่าดัชนีประสิทธิผลของการเรียนรู้ ด้านทักษะการฟังและการพูดสำหรับเด็กปฐมวัยหลังการจัดประสบการณ์โดยใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจองท่องสนุก เพื่อเปรียบเทียบคะแนนประเมิน ก่อนกับหลังการจัดประสบการณ์โดยใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจองท่องสนุกสำหรับเด็กปฐมวัย กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เด็กปฐมวัย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโศกขามป้อม สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลภูผาหมอก ปีการศึกษา 2561 ที่มีอายุ 3 ปี จำนวน 15 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ แผนการจัดประสบการณ์ โดยใช้หนังสือภาพประกอบ คำคล้องจองท่องสนุกสำหรับเด็ก ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น จำนวน 10 แผน หนังสือภาพประกอบคำคล้องจองท่องสนุก จำนวน 10 เล่ม และแบบประเมินทักษะการฟังและการพูด จำนวน 20 ข้อ มีค่าความยากง่ายตั้งแต่ .35 - .75 และค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ .20 - .80 และค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .89 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(S.D.) ค่าประสิทธิภาพ ( ) ค่าประสิทธิผล (E.I.) และการทดสอบลำดับพิสัย Wilcoxon (Z-test)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ประสิทธิภาพของแผนการจัดประสบการณ์โดยใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจองท่องสนุกสำหรับปฐมวัย มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 86.39/83.33 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2. ดัชนีประสิทธิผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจองท่องสนุก เพื่อเสริมทักษะด้านการฟังและการพูดสำหรับเด็กปฐมวัย มีค่าเท่ากับ 0.59677 หรือคิดเป็นร้อยละ 59.68 แสดงว่านักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 59.68
3. ผลการเปรียบเทียบคะแนนแบบประเมินทักษะด้านการฟังและการพูดสำหรับเด็กปฐมวัย ก่อนและหลังจัดประสบการณ์โดยใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจองท่องสนุก เด็กมีผลการประเมินหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01