ชื่อเรื่อง : รายงานการประเมินโครงการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
โรงเรียนเทศบาล 3 (หล่ายอิงราษฎร์บำรุง) อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
ชื่อผู้ประเมิน : ว่าที่ร้อยตรีวรพล ใจคำ
โรงเรียน : โรงเรียนเทศบาล 3 (หล่ายอิงราษฎร์บำรุง)
ปีที่ประเมิน : 2561
การประเมินโครงการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล 3
(หล่ายอิงราษฎร์บำรุง) อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ประเมินโครงการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล 3 (หล่ายอิงราษฎร์บำรุง) สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองพะเยา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา โดยใช้แบบจำลองการประเมิน CPO (CPOS Evaluation Model) ด้านปัจจัยพื้นฐานด้านสภาวะแวดล้อม ด้านกระบวนการปฏิบัติระหว่างดำเนินโครงการ ด้านผลผลิตของโครงการ (2) เพื่อประเมินผลกระทบของโครงการ พิจารณาจากผลการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล 3 (หล่ายอิงราษฎร์บำรุง) ตามมาตรฐานการศึกษาปฐมวัย และตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ ได้แก่ รองผู้อำนวยการ ครูผู้สอน และคณะกรรมการสถานศึกษา รวมทั้งสิ้น 33 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือแบบสอบถามเกี่ยวกับความคิดเห็นที่มีต่อโครงการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา จำนวน 3 ฉบับ มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ฉบับที่ 1 ประเมินปัจจัยพื้นฐานด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการ (Context) มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .975 ฉบับที่ 2 ประเมินกระบวนการระหว่างดำเนินโครงการ (Process) มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .979 ฉบับที่ 3 ประเมินผลผลิตของโครงการ (Outcome) มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .956 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมิน
1. ด้านปัจจัยพื้นฐานด้านสภาวะแวดล้อม (Context) ทั้งโดยรวมและรายด้านมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ความพร้อมและทรัพยากรในการดำเนินการ (Readiness and resources) รองลงมา คือ ความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility) และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ ความต้องการจำเป็นของโครงการ (Need Assessment) และวัตถุประสงค์ของโครงการ (Objectives)
2. ด้านกระบวนการปฏิบัติระหว่างดำเนินโครงการ (Process) ทั้งโดยรวมและรายด้าน
มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ โดยด้านที่มีผลการประเมินสูงสุดคือ ด้านช่วงเวลาการดำเนินการ (Timing) รองลงมาคือด้านการดำเนินกิจกรรมโครงการ (Activity)
3. ด้านผลผลิตของโครงการ (Outcome) ทั้งโดยรวมและรายด้านมีผลการประเมิน
อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ โรงเรียนจัดกิจกรรม
ตามมาตรฐานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดปีการศึกษา รองลงมา คือ โรงเรียนมีการประชุมวางแผนการดำเนินงานก่อนดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนกำหนดให้มีการรายงานผลต่อนักเรียน ครู และผู้ปกครอง เมื่อเสร็จสิ้นโครงการ และโรงเรียนกำหนดให้มีการประเมินผลระหว่างการดำเนินโครงการ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ โรงเรียนมีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
4. ด้านผลกระทบของโครงการ (Impact) โดยผลการประเมินคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาปฐมวัย ปีการศึกษา 2561 ทั้งโดยรวมและรายมาตรฐานอยู่ในระดับดีเลิศ และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2561 โดยรวมอยู่ในระดับดี เมื่อพิจารณาเป็นรายมาตรฐาน มาตรฐานที่ 2 กระบวนการบริหารและการจัดการ มีผลการประเมินอยู่ในระดับดีเลิศ มาตรฐานที่ 1 ด้านคุณภาพผู้เรียน และมาตรฐานที่ 3 กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมีผลการประเมินอยู่ในระดับดี