ชื่อเรื่อง รายงานผลการพัฒนาทักษะทางภาษา โดยใช้หนังสือเสริมประสบการณ์คำ
คล้องจองประกอบภาพ ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1
ผู้รายงาน นางสาวธันยา เปลี่ยมชัย
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโนนเปรมชัย องค์การบริหารตำบลโนนเมือง
อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู
ปีที่พิมพ์ 2562
บทคัดย่อ
การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อหาประสิทธิภาพของหนังสือเสริมประสบการณ์ คำคล้องจองประกอบภาพ ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 เพื่อเปรียบเทียบทักษะทางภาษาด้านการฟังและการพูด ของเด็กปฐมวัย ก่อนและหลังได้รับการจัดประสบการณ์ด้วยหนังสือเสริมประสบการณ์ คำคล้องจองประกอบภาพ ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล
ปีที่ 1 และเพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของหนังสือเสริมประสบการณ์ คำคล้องจองประกอบภาพ
ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ เด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโนนเปรมชัย องค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมือง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 16 คน เครื่องมือที่ใช้
ในการศึกษาประกอบด้วย แผนการจัดประสบการณ์การพัฒนาทักษะทางภาษา โดยใช้หนังสือเสริมประสบการณ์คำคล้องจองประกอบภาพ ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 จำนวน 32 แผน หนังสือเสริมประสบการณ์คำคล้องจองประกอบภาพ ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 จำนวน 8 เล่ม และแบบทดสอบวัดความสามารถทางภาษาด้านการฟังและการพูด ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่ามัชฌิมเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและค่า t-test (Dependent sample)
ผลการศึกษาพบว่า
1. ประสิทธิภาพของหนังสือเสริมประสบการณ์ คำคล้องจองประกอบภาพ ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่สร้างขึ้น มีค่าเท่ากับ 84.61/83.13 สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ คือ 80/80
2. ผลการเปรียบเทียบทักษะทางภาษาด้านการฟังและการพูด โดยใช้หนังสือเสริมประสบการณ์ คำคล้องจองประกอบภาพ ของเด็กปฐมวัย ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 หลังได้รับการจัดประสบการณ์ทั้งโดยรวมและรายด้านมีค่าสูงกว่าก่อนได้รับการจัดประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญ ที่ระดับ 0.01
3. ค่าดัชนีประสิทธิผลของหนังสือเสริมประสบการณ์ คำคล้องจองประกอบภาพ ของเด็กปฐมวัย ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 มีค่าเท่ากับ 0.6301 ซึ่งแสดงว่าหลังการจัดประสบการณ์ด้วยหนังสือเสริมประสบการณ์ คำคล้องจองประกอบภาพ ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 แล้วเด็กมีทักษะทางภาษาด้านการฟังและการพูดสูงขึ้น ร้อยละ 63.01