การจัดประสบการณ์ตามแนวคิดโดยใช้สมองเป็นฐานเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2/3 การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาความคิดสร้างสรรค์และเพื่อเปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยก่อนและหลังการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดสมองเป็นฐาน มีกลุ่มตัวอย่างเป็น นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3/2 จำนวน 21 คน ที่เรียนในภาคเรียนที่ 1
ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนสวนป่าเขาชะอางค์ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วย แผนการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดโดยใช้สมองเป็นฐานจำนวน 16 แผน แบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ TCT – DP (Test For Creative Thinking- Drawing Production) ของ เยลเบน และเออร์บัน(Jell and Urban) สถิติที่ใช้ คือ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่า t – test (Dependent Samples) ผลการวิจัย พบว่า
1. แผนการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดโดยใช้สมองเป็นฐาน มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 82.05/ 81.51 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80
2. เด็กปฐมวัยที่ได้รับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์โดยการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดโดยใช้สมองเป็นฐานมีพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์สูงขึ้นทุกด้าน ได้แก่ ความคิดริเริ่ม ความคิดคล่องแคล่ว ความคิดยืดหยุ่น
3. เด็กปฐมวัยที่ได้รับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์โดยการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดโดยใช้สมองเป็นฐานมีคะแนนพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์หลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
นอกจากนั้นยังพบว่า การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยโดยการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดโดยใช้สมองเป็นฐาน ยังสามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาปฐมวัย มาตรฐานที่ 4 คือ เด็กสามารถคิดรวบยอด คิดแก้ปัญหา และคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งผลเกิดจากการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติกิจกรรมอย่างเต็มที่ ภายใต้สถานการณ์ที่ครูจัดประสบการณ์ให้อย่างหลากหลายและน่าสนใจ ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น