บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อหาประสิทธิภาพของแผนการจัดประสบการณ์การพัฒนาความสามารถการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ของนักเรียนชั้นปฐมวัย 2 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านมาบ โดยการจัดกิจกรรมการละเล่นแบบไทย ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ของนักเรียนชั้นปฐมวัย 2 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านมาบ ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์โดยการจัดกิจกรรมการละเล่นแบบไทย
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ นักเรียนชั้นปฐมวัย 2/1 ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านมาบ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง จำนวน 16 คน ดำเนินการทดลองระยะเวลา 8 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แผนการจัดประสบการณ์การพัฒนาความสามารถการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ของนักเรียนชั้นปฐมวัย 2 โดยการจัดกิจกรรมการละเล่นแบบไทย จำนวน 24 แผน แบบทดสอบวัดความสามารถการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ของนักเรียนชั้นปฐมวัย 2 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการทดสอบสมมติฐานใช้ t test (Dependent Samples)
ผลการศึกษา พบว่า 1) ประสิทธิภาพของแผนการจัดประสบการณ์การพัฒนาความสามารถ การใช้กล้ามเนื้อใหญ่ของนักเรียนชั้นปฐมวัย 2/1 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านมาบ โดยการจัดกิจกรรมการละเล่นแบบไทยมีประสิทธิภาพ ( E1/E2) เท่ากับ 90.63/93.19 ซึ่งมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) ผลการเปรียบเทียบความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ของนักเรียนชั้นปฐมวัย 2/1 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านมาบ ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์การพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ โดยการจัดกิจกรรมการละเล่นแบบไทยมีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เป็นไปตามสมมติฐานที่กำหนดไว้
แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ 1
ชั้นปฐมวัย 2/1 ภาคเรียนที่ 2
สาระการเรียนรู้ สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเด็ก
กิจกรรมกลางแจ้ง
สัปดาห์ที่ 1 สอนวันที่ 10 เดือน มกราคม พ.ศ. 2561 ปีการศึกษา 2561
หน่วยการเรียนรู้ การสื่อสาร
กิจกรรมที่ 1 การละเล่นมอญซ่อนผ้า
เวลา 10.20 11.00 จำนวน 40 นาที
สาระสำคัญ
การพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ เป็นการพัฒนาความแข็งแรงของร่างกาย ในลักษณะการเคลื่อนไหวและความคล่องแคล่วในการใช้อวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ แขน ขา และมือ โดยการปฏิบัติจริงจากกิจกรรมการละเล่นแบบไทยที่เป็นกิจกรรมกลางแจ้ง โดยส่งเสริมให้นักเรียนเคลื่อนไหวร่างกาย ควบคุมการทรงตัวในอิริยาบถต่าง ๆ ในลักษณะของการนั่ง วิ่ง ยืน กระโดด ปีนป่าย และปฏิบัติตามกฎกติกาที่ส่งผลต่อการพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ ทำให้นักเรียน มีความรับผิดชอบ สนุกสนาน และมีความปลอดภัยในการเล่น
จุดประสงค์การเรียนรู้
1. นักเรียนสามารถใช้กล้ามเนื้อใหญ่ได้อย่างคล่องแคล่ว
2. นักเรียนสามารถทรงตัวในการเคลื่อนไหวได้
3. นักเรียนสามารถเคลื่อนไหวร่างกายจากการละเล่นมอญซ่อนผ้าได้อย่างคล่องแคล่ว
4. นักเรียนสามารถปฏิบัติตามกฎกติกาการละเล่นมอญซ่อนผ้าได้ถูกต้อง
5. นักเรียนสามารถเล่นได้อย่างปลอดภัยและสนุกสนาน
สาระการเรียนรู้
สาระที่ควรเรียนรู้
การละเล่นมอญซ่อนผ้า
การละเล่นมอญซ่อนผ้าเป็นการละเล่นแบบไทยที่ต้องการให้ผู้เล่นรู้จักกฎกติกา วิธีการเล่น เกิดไหวพริบ และสามารถเล่นร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข สนุกสนานเพลิดเพลิน เป็นการอนุรักษ์การละเล่นไทยที่มีมาแต่อดีต ส่งเสริมและพัฒนาการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ของร่างกาย ได้แก่ กล้ามเนื้อมือ แขน ขา ในการเคลื่อนไหว
ประสบการณ์สำคัญ
ด้านร่างกาย
- การทรงตัวและการประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อใหญ่
- การเคลื่อนไหวและความคล่องแคล่วในการใช้กล้ามเนื้อใหญ่
ด้านอารมณ์ จิตใจ
- การรู้จักการรอคอยและการควบคุมตนเองในการทำกิจกรรม
- การแสดงออกอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินในการเล่น
ด้านสังคม
- การเล่นและการทำงานร่วมกับผู้อื่น
- การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
- การแก้ปัญหาในการเล่นและการปฏิบัติกิจกรรม
ด้านสติปัญญา
- การเชื่อมโยงภาพ สิ่งของ สถานที่ ในการเล่น
- การปฏิบัติตามกฎ กติกา ในการเล่น
- การวางแผนตัดสินใจและเลือกลงมือปฏิบัติในการละเล่นแบบไทย
กิจกรรมการเรียนรู้
ขั้นเตรียม
1. นักเรียนเข้าแถวหน้าชั้นเรียน และเดินลงสู่สนามอย่างเป็นระเบียบ
2. นักเรียนอบอุ่นร่างกาย โดยมีอาสาสมัครออกมาทำท่าทางการบริหารร่างกาย เช่น
- วิ่งอยู่กับที่
- กระโดดตบ
ขั้นเรียนรู้การละเล่นแบบไทย
3. นักเรียนดูภาพการละเล่นมอญซ่อนผ้า แล้วสนทนาร่วมกัน โดยครูตั้งคำถามว่า
- ภาพที่เห็นเป็นภาพอะไร
- นักเรียนเคยเห็นที่ไหนบ้าง
- นักเรียนเคยร่วมกิจกรรมนี้หรือไม่
4. นักเรียนและครูร่วมกันร้องเพลง มอญซ่อนผ้า นักเรียนและครูร่วมกันสนทนาซักถามเกี่ยวกับเนื้อหาของเพลง และการเล่นมอญซ่อนผ้า
5. นักเรียนฟังครูอธิบายถึงกฎกติกาในการละเล่นมอญซ่อนผ้า ตามลำดับขั้นตอนการเล่นอย่างละเอียด พร้อมอุปกรณ์สื่อที่ใช้ประกอบการเล่น
ขั้นพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่
6. นักเรียนและครูร่วมสรุปข้อตกลงในการเล่นมอญซ่อนผ้าอีกครั้งหนึ่ง โดยให้นักเรียนร่วมกิจกรรมการเล่นทุกคน
7. นักเรียนอาสาสมัครออกมาสาธิตการละเล่นมอญซ่อนผ้าที่ถูกวิธีและปลอดภัย แล้วให้นักเรียนทดลองเล่น โดยครูคอยดูแลและแนะนำอย่างใกล้ชิด
8. นักเรียนร่วมกันเล่นมอญซ่อนผ้า โดยปฏิบัติตามกฎกติกาการละเล่นมอญซ่อนผ้า ดังนี้
- แบ่งผู้เล่นเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 9 คน นั่งล้อมวงเป็นวงกลม เว้นระยะห่างพอสมควร นักเรียนเอามือมาวางไว้บนตักและไม่หันไปมา
- ผู้เล่นแต่ละกลุ่มออกมาจับไม้สั้นไม้ยาว ผู้ที่ได้ไม้สั้นที่สุดเป็นผู้ที่ถือผ้าเช็ดหน้าที่เตรียมไว้ แล้วออกไปยืนข้างนอก ที่เหลือนอกนั้นนั่งกันเป็นวงกลม หันหน้าเข้าหากันในระยะห่างกันประมาณ 1 ศอก
- ผู้ที่ถือผ้าจะต้องเดินไปรอบ ๆ วง และผู้ที่นั่งต้องร้องเพลงมอญซ่อนผ้าที่มีเนื้อร้องว่า "มอญซ่อนผ้า ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ใครเผลอคอยระวัง ใครเผลอคอยระวัง ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ระวังจะถูกตี ถูกตี
- ผู้ซ่อนผ้าจะต้องแอบซ่อนผ้าไว้ข้างหลังผู้เล่นที่นั่งอยู่คนใดคนหนึ่ง และให้เดินวนรอบวงอีกหนึ่งรอบ เพื่อแสร้งทำเป็นเหมือนไม่เกิดอะไรเกิดขึ้น
- ผู้ที่ถูกซ่อนผ้าจะต้องลุกขึ้นมาวิ่งไล่ตีผู้ซ่อนผ้าโดยการวิ่งไล่รอบ ๆ วง ให้ทันเวลา
- ผู้ซ่อนผ้าจะต้องวิ่งมานั่งร่วมวงในที่ที่ว่าง หากผู้ที่ถูกซ่อนผ้าไม่สามารถไล่ผู้ซ่อนผ้าทัน ผู้นั้นจะต้องกลายผู้ซ่อนผ้าแทน
ขั้นสรุป
9. นักเรียนยืนเป็นวงกลม แล้วสนทนาร่วมกันกับครูเกี่ยวกับการละเล่นมอญซ่อนผ้า
10. นักเรียนและครูสรุปผลการเล่นมอญซ่อนผ้าร่วมกันว่า มีความสนุกสนานหรือไม่ อย่างไร และสรุปถึงความแข็งแรงของร่างกาย ความคล่องแคล่วว่องไว การเคลื่อนที่ การทรงตัวที่ดี โดยครูอธิบายว่า การละเล่นมอญซ่อนผ้าเป็นการละเล่นแบบไทยที่พัฒนาทักษะการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ของนักเรียน ได้แก่ แขน ขา มือ
11. นักเรียนทำความสะอาดร่างกาย เดินกลับเข้าห้องเรียนอย่างมีระเบียบ
สื่อและอุปกรณ์ / แหล่งเรียนรู้
1. ไม้สั้น จำนวน 2 อัน
2. ไม้ยาว จำนวน 16 อัน
3. บทร้องประกอบการเล่นมอญซ่อนผ้า
มอญซ่อนผ้า ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง
ใครเผลอคอยระวัง ใครเผลอคอยระวัง
ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ระวังจะถูกตี ถูกตี
4. ผ้าเช็ดหน้าผืนใหญ่ จำนวน 2 ผืน
5. สนามโรงเรียน
ข้อแนะนำในการเล่น
1. ผ้าเช็ดหน้าไม่ต้องขมวดหรือพันให้เป็นเกลียว เพราะถ้าฟาดถูกผู้ใดเข้าแล้วจะเจ็บ
2. ผู้นั่งทุกคนจะหันหน้าไปดูข้างหลังไม่ได้ ถ้าหากสงสัยว่าจะมีผ้าอยู่ข้างหลังตนหรือไม่ ก็ให้ใช้มือคลำดูเท่านั้น
3. ผู้ถือต้องวางผ้าลงข้างหลังให้ใกล้ตัวผู้นั่ง จะวางเกินกว่า 1 ศอกไม่ได้ และให้วิ่งหรือเดินต่อไปข้างหน้าจนบรรจบรอบ จะหันหลังเดินย้อนมาไม่ได้
4. ผู้ถือผ้าต้องเอาผ้าบังตัวไว้มิให้ผู้นั่งเห็นได้ถนัด ต้องทำท่าหรือหน้าตาให้สนิท เดินบ้างวิ่งบ้าง ทำเป็นวางผ้าแต่ไม่วาง เพื่อหลอกล่อผู้ที่นั่งให้เผลอตัว เมื่อเห็นเป็นโอกาสแล้วก็แอบหย่อนผ้าลงไว้ใกล้หลังผู้นั่งคนใดคนหนึ่ง
5. เมื่อวางผ้าแล้วควรเดินหรือวิ่งให้เร็วต่อไปเพื่อกลับถึงที่เดิมโดยมิให้ผู้นั้นต้องรู้ตัว
การวัดและประเมินผล
1. วิธีการ
1.1 สังเกตจากการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ได้อย่างคล่องแคล่ว
1.2 สังเกตจากการทรงตัวในการเคลื่อนไหว
1.3 สังเกตการเคลื่อนไหวร่างกายจากการละเล่นมอญซ่อนผ้าได้อย่างคล่องแคล่ว
1.4 สังเกตจากการปฏิบัติตามกฎกติกาการละเล่นมอญซ่อนผ้าได้ถูกต้อง
1.5 สังเกตจากการเล่นได้อย่างปลอดภัยและสนุกสนาน
2. เครื่องมือ
แบบประเมินพฤติกรรมความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ของนักเรียนชั้นปฐมวัย 2/1 โดยการจัดกิจกรรมการละเล่นแบบไทย
ความคิดเห็น / ข้อเสนอแนะของผู้บริหาร หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
................................................................................................................................................ ................................................................................................................................................ ................................................................................................................................................ ................................................................................................................................................ ................................................................................................................................................ ................................................................................................................................................................
ลงชื่อ ผู้ตรวจ
(นางสาวจุฑารัตน์ หน้องมา)
ผู้อำนวยการกองการศึกษาเทศบาลตำบลควนเสาธง
บันทึกผลหลังการจัดกิจกรรมและประสบการณ์
1. จำนวนนักเรียนชั้นปฐมวัย 2/1 มาเรียน 16 คน ไม่มา คน คือ เลขที่
2. พฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน พบว่า นักเรียนมีความสนใจในกิจกรรมการละเล่น มอญซ่อนผ้า นักเรียนเคลื่อนไหวร่างกายอย่างคล่องแคล่ว กระโดดเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ ทรงตัว ในการเคลื่อนไหวได้ เล่นมอญซ่อนผ้าด้วยความปลอดภัยทั้งตนเองและผู้อื่น และมีความสนุกสนาน ในการเล่น
3. การดำเนินการจัดประสบการณ์ของครูผู้สอน ได้ดำเนินการตามแผนการจัดประสบการณ์ การเรียนรู้
4. สรุปผลการจัดการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นปฐมวัย 2/1 พบว่า นักเรียนมีพฤติกรรมด้านการพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อใหญ่โดยจัดกิจกรรมการละเล่นแบบไทย อยู่ในระดับ ดีมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.54
5. แนวทางการจัดประสบการณ์ให้กับนักเรียนที่ไม่มาเรียนในวันนี้ คือ ไม่มี
6. ปัญหาที่พบและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ไม่มี
ลงชื่อ ผู้สอน
(นางสุมาลี นิราราช)
วันที่ 10 เดือน มกราคม พ.ศ. 2561