ชื่อเรื่อง การพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้ตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ ของ Underhill วิชาฟิสิกส์ เรื่องการเคลื่อนที่แนวตรง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ผู้วิจัยและพัฒนา นางน้ำค้าง รัตนพันธ์ โรงเรียนพุทไธสง
ปีที่วิจัย 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1.) เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการสอนตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ ของ Underhill ให้มีนักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ที่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 70 ของคะแนนเต็ม 2.) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการคิดวิเคราะห์ก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการสอนตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ ของ Underhill 3.) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในรายวิชาฟิสิกส์ เรื่องการเคลื่อนที่แนวตรง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการสอนตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ ของ Underhill ให้มีนักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ที่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 70 ของคะแนนเต็ม 4.) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน ในรายวิชาฟิสิกส์ เรื่องเสียง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการสอนตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ ของ Underhill และ 5.) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ของ Underhill ในเรื่องเสียง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที 4/4 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 แผนการเรียนวิทย์-คณิต โรงเรียนพุทไธสง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 32 จำนวน 38 คน เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ ตามรูปแบบของ Underhill (1991) จำนวน 8 แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ มีค่าความเชื่อมั่น 0.81 และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในเนื้อหาวิชาฟิสิกส์ เรื่องการเคลื่อนที่แนวตรง มีค่าความเชื่อมั่น 0.90
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยโดยใช้รูปแบบการวิจัยแบบทดลอง ในการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้วิจัยได้ใช้แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทดสอบก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และนำแบบวัดความพึงพอใจที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนไปวัดนักเรียนหลังจากกิจกรรมการเรียนการสอนสิ้นสุดลง วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิเคราะห์ความสามารถใน
การคิดวิเคราะห์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโดยใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบค่า t-test วิเคราะห์ความพึงพอใจโดยใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ด้านการพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ พบว่า จำนวนนักเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ ร้อยละ 70 มีจำนวน 29 คน คิดเป็นร้อยละ 76.31 โดยได้คะแนนเฉลี่ยหลังเรียน 15.21 คิดเป็นร้อยละ 76.05 ซึ่งผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. ผลการวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์หลังเรียน พบว่า ค่า t-test ที่ได้จากการเปรียบเทียบความสามารถในการคิดวิเคราะห์หลังเรียนแตกต่างจากก่อนเรียนที่ระดับนัยสำคัญ .05 แสดงว่า การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ตามรูปแบบของ Underhill (1991) สามารถพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ด้านการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่า จำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ ร้อยละ 70 มีจำนวน 31 คน คิดเป็นร้อยละ 81.57 โดยได้คะแนนเฉลี่ยหลังเรียน 16.03 คิดเป็นร้อยละ 80.15 ซึ่งผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้
4. ผลการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน พบว่า ค่า t-test ที่ได้จากการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนแตกต่างจากก่อนเรียนที่ระดับนัยสำคัญ .05 แสดงว่า การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตามรูปแบบของ Underhill (1991) สามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ ตามรูปแบบของ Underhill (1991) สามารถพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ในรายวิชาฟิสิกส์ เรื่องการเคลื่อนที่แนวตรง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ได้
5. นักเรียนที่เรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนรู้ตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ ตามรูปแบบของ Underhill (1991) โดยเฉลี่ยมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งมีค่าเฉลี่ย 4.57 คิดเป็นร้อยละ 91.40 มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.766