บทคัดย่อ
การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของการจัดประสบการณ์แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก เพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา ของเด็กปฐมวัย ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของ การจัดประสบการณ์แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก เพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา ของเด็กปฐมวัย และ 3) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการแก้ปัญหา ของเด็กปฐมวัย ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์
แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าเป็นเด็กปฐมวัยที่มีอายุ 3-4 ปี ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดเทพนิมิตวราราม จังหวัดบึงกาฬ ปีการศึกษา 2562 จำนวน 12 คนซึ่งได้มาโดยการเลือก
กลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง รูปแบบการวิจัยคือ แบบกลุ่มเดียวทดสอบก่อนและหลัง
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าประกอบด้วย 1) แผนการจัดประสบการณ์แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก เพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา ของเด็กปฐมวัย จำนวน 32 แผน 2) แบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหา จำนวน 12 ข้อ
การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติในการหาคุณภาพและประสิทธิภาพของเครื่องมือ (IOC, E1/E2, E.I., α Coefficient) สถิติพื้นฐาน (ค่าร้อยละ, ,S.D.) สถิติเพื่อทดสอบความแตกต่างโดยใช้การทดสอบที (t-test) กรณีกลุ่มตัวอย่างไม่เป็นอิสระกัน (Dependent Samples)
ผลการศึกษาค้นคว้าสรุปได้ดังนี้
1. ประสิทธิภาพของการจัดประสบการณ์แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก เพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา ของเด็กปฐมวัย มีประสิทธิภาพเท่ากับ 85.06/84.38 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดคือ 80/80
2. ดัชนีประสิทธิผลของการจัดประสบการณ์แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก เพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา ของเด็กปฐมวัย มีค่าเท่ากับ 0.78 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์กำหนด 0.50
3. การเปรียบเทียบความสามารถในการแก้ปัญหาของของเด็กปฐมวัย ก่อนและหลัง
การจัดประสบการณ์แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยความสามารถในการแก้ปัญหาหลังการจัดประสบการณ์แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก สูงกว่า
ก่อนการจัดประสบการณ์ ซึ่งนักเรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหาด้านปัญหาของตนเองที่ต้องแก้ไขทันที สูงสุด รองลงมา คือ ปัญหาของตนเองที่ไม่ต้องแก้ไขทันที และปัญหาของผู้อื่น ลำดับสุดท้ายคือ ปัญหาของตนเองที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น