บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง การวิจัยปฏิบัติการ เรื่องการพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียน
ด้านความรับผิดชอบ โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว สังกัดเทศบาล
นครแม่สอด จังหวัดตาก
ผู้วิจัย นายศิริศักดิ์ ใหมสกุล
หน่วยงาน โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก
ปีที่วิจัย พ.ศ. 2562
การมีวินัยในตนเองของนักเรียน มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเพื่อให้เกิดเป็นนิสัยที่ดีตามที่สังคมต้องการ โรงเรียนเป็นสถาบันการศึกษารองจากสถาบันครอบครัวที่มีหน้าที่จัดการด้านการศึกษา และฝึกอบรมเยาวชนให้มีความรู้ มีระเบียบวินัยในตนเอง สามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบ โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก โดยใช้หลักการวิจัยปฏิบัติการ ตามแนวคิดของ Kemmis และ McTaggart โดยดำเนินการเป็น 2 วงรอบ (Spiral) แต่ละวงรอบประกอบด้วย การวางแผน การปฏิบัติ การสังเกตผล และการสะท้อนผล กลุ่มผู้ร่วมวิจัย จำนวน 19 คน ประกอบด้วย ผู้วิจัย ผู้ร่วมวิจัย ประกอบด้วย ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 18 คน กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 35 คน ประกอบด้วย นักเรียนที่มีปัญหาด้านความรับผิดชอบต่อตนเอง จำนวน 15 คน และนักเรียนที่มีปัญหาด้านความรับผิดชอบต่อส่วนรวม จำนวน 20 คน กลุ่มผู้ให้ข้อมูล จำนวน 46 คน ประกอบด้วย ครูฝ่ายปกครอง จำนวน 1 คน ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 18 คน ตัวแทนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 18 คน และตัวแทนผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 9 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล มี 4 ประเภท ได้แก่ แบบบันทึก แบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ และแบบประเมิน การตรวจสอบข้อมูลใช้เทคนิคการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า (Triangular Method) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา และนำเสนอผลการวิจัยเชิงพรรณนาวิเคราะห์
ผลการวิจัย พบว่า หลังจากได้ดำเนินการพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบ โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก โดยใช้กลยุทธ์การประชุมแบบมีส่วนร่วม การนิเทศ กำกับ ติดตาม และการเสริมแรง ด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรม ธรรมะชนะกิเลศ กิจกรรม ประกวดความสะอาดบริเวณรับผิดชอบ และกิจกรรม ประกวดห้องเรียนสะอาด โดยใช้หลักการวิจัยปฏิบัติการ ดำเนินการเป็น 2 วงรอบ ปรากฏผลดังนี้ 1) ด้านความรับผิดชอบต่อตนเอง ได้แก่ การรักษาความสะอาดการแต่งกาย นักเรียนที่ไม่มีวินัยด้านการรักษาความสะอาดการแต่งกาย จำนวน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 14.44 ลดลงเหลือร้อยละ 0.00 ซึ่งบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ นักเรียนมีการประพฤติตนอยู่ในระเบียบและการแต่งกายถูกระเบียบของโรงเรียน ส่งผลให้นักเรียนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความมีวินัยด้านการรักษาความสะอาดของร่างกาย และเครื่องแต่งกายรู้จักดูแลรักษาความสะอาดของเสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า แต่งกายสะอาดเรียบร้อยสวยงามถูกระเบียบของโรงเรียน และรู้จักรักษาความสะอาดของร่างกาย ปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ 2) ด้านความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ได้แก่ การรักษาความสะอาดสถานศึกษา นักเรียนที่ไม่มีวินัยด้านการรักษาความสะอาดสถานศึกษา จำนวน 20 คน คิดเป็นร้อยละ 19.23 ลดลงเหลือร้อยละ 0.00 ซึ่งบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ นักเรียนมาโรงเรียนก่อนเวลา 08.00 น. นักเรียนให้ความร่วมมือกันในการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายมีความกระตือรือร้น ตั้งใจและเอาใจใส่ในการทำงานมากขึ้น มีการใช้กระบวนการกลุ่มใน
การทำงาน ส่งผลให้โรงเรียนสะอาด สวยงามมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
โดยสรุป ผลการพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบโรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก โดยใช้กลยุทธ์ในการพัฒนา คือการประชุมแบบมีส่วนร่วม กลยุทธ์การนิเทศ กำกับ ติดตาม และกลยุทธ์การเสริมแรง ด้วยกิจกรรม ธรรมะชนะกิเลศ กิจกรรม ประกวดความสะอาดบริเวณรับผิดชอบ และกิจกรรม ประกวดห้องเรียนสะอาด ช่วยให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ลดจำนวนนักเรียนที่ประพฤติผิดวินัยด้านความรับผิดชอบต่อตนเองและด้านความรับผิดชอบส่งเสริมสนับสนุนให้นำกิจกรรมดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียนในโรงเรียนอื่นต่อไป
คำสำคัญ : การพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียน, การเสริมสร้างวินัย
นักเรียน, วินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบ
บทที่ 1 บทนำ
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
การศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อใช้ในการพัฒนาคนให้มีความสมบูรณ์ และเพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพของคนชาติ รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา อันถือว่าเป็นแม่บทในการบริหารและการจัดการศึกษาอบรม และเป็นกลไกสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ การศึกษาเป็นการสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ องค์ประกอบที่จะทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คือ ความรู้ ความดีวิชาการและศาสตร์ต่างๆ วินัยสร้างคนให้เป็นคนดีคนจะมีวินัยก็ต้องมีคุณธรรมประจำใจคนที่มีความรู้อย่างเดียว แต่ขาดวินัยจะทำให้สังคมเดือดร้อน มีปัญหาต่างๆ ตามมามากมายในการพัฒนาเยาวชนของชาติเข้าสู่โลกยุคศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนมีคุณธรรมรักความเป็นไทย ให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์ มีทักษะด้านเทคโนโลยีสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างสันติ (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ. 2551 : 24)
ความมีวินัย จัดได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ปรารถนาประการหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งที่สำคัญที่จะต้องปลูกฝังให้เกิดขึ้นกับนักเรียนอย่างจริงจัง การปฏิบัติงานการส่งเสริมวินัยนักเรียนของโรงเรียน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมและทั่วถึง โดยเฉพาะนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะว่าเป็นวินัยแห่งการเสริมสร้างการเจริญเติบโตทั้งด้านร่างกายและจิตใจอย่างรวดเร็ว เป็นวินัยที่มีความคิดอย่างอิสระ ต้องเผชิญปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว วู่วาม แสดงออกทางอารมณ์อย่างรุนแรง จากลักษณะของวัยรุ่นที่กล่าวมานั้น อาจส่งให้เกิดพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปในทางที่ไม่พึงประสงค์ และเป็นปัญหาของโรงเรียน ของสังคม ประเทศชาติได้ในที่สุด อันได้แก่ปัญหา อาชญากรรมปัญหาสารเสพติด ปัญหาชู้สาว ปัญหาการฝ่าฝืนระเบียบวินัยของโรงเรียน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากการขาดวินัยทั้งสิ้น (กุลชา ศิรเฉลิมพงศ์. 2544 : 4) ความขาดระเบียบวินัยเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม ในขณะนี้เราต้องการสร้างสรรค์ความเป็นประชาธิปไตย และวินัยเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย ถ้าเราไม่สามารถสร้างวินัยให้แก่คนในชาติได้ การพัฒนาประชาธิปไตยก็หวังผลสำเร็จได้น้อย เพราะในประเทศประชาธิปไตยนั้น สังคมอยู่ได้ด้วยกฎและกติกา ความเคารพกฎเกณฑ์ และกติกาสังคมนั้น คือ ความหมายอย่างหนึ่งของความมีวินัย ดังนั้น การศึกษาต้องหาทางสร้างสรรค์ปลูกฝังพัฒนาประชาธิปไตยให้สำเร็จบนพื้นฐานของความมีวินัย (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). 2539 : 1-2)
สภาพเกี่ยวกับวินัยนักเรียนส่วนมากมีพฤติกรรมด้านวินัยที่บกพร่องชัดเจน ได้แก่
ด้านการแต่งกาย ไม่ถูกต้องตามกฎ ระเบียบและข้อบังคับของโรงเรียน ด้านตรงต่อเวลา การมาโรงเรียนของนักเรียน การเข้าเรียน การส่งงานและการแก้ไขงานไม่เสร็จตามกำหนดเวลาด้านการเข้าแถว ไม่เป็นระเบียบทำให้การประกอบกิจกรรมต่างๆ มีความล่าช้า และด้านการรักษาความสะอาด ไม่ทำความสะอาดห้องเรียน ไม่ร่วมมือรักษาความสะอาดเขตพื้นที่บริเวณรับผิดชอบและทิ้งขยะไม่ถูกที่ (จุฑารัตน์ เต็มแสง. 2559 : 160-169) และการจัดการเรียนรู้ในการเสริมสร้างวินัยนักเรียนยังไม่เป็นระบบและต่อเนื่อง ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีวินัย ไม่เชื่อฟังครูขาดความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อส่วนรวม ขาดจิตสาธารณะและครูยังไม่ค่อยเน้นเรื่องวินัยนักเรียนทั้งด้านความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อส่วนรวมของนักเรียนเท่าที่ควรปัญหาการดำเนินงานการเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อส่วนรวม
ของนักเรียน (ณัฐพร ฝ่ายขันธ์. 2560 : 131-135)
โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว สังกัดเทศบาลนครแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จัดการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดทำการสอน ระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 (โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว. 2561 : 15-26) การบริหารโรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้วได้แบ่งการบริหารจัดการออกเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย (1) การบริหารวิชาการ (2) การบริหารงบประมาณ (3) การบริหารงานบุคคล และ (4) การบริหารทั่วไป (โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว. 2561 : 76) สภาพโดยทั่วไปโรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีชนหลายกลุ่มอาศัยและอยู่ใกล้ชายแดนไทย-พม่า มีนักเรียนจากกลุ่มชนเหล่านี้มาเข้าเรียนต้องเพิ่มศักยภาพและความหลากหลายในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาหลากหลายในการจัดการศึกษาของสถานศึกษา ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง จึงทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องเวลาทำให้บางครั้งไม่สามารถให้ความร่วมมือกับสถานศึกษาได้ และผู้ปกครองและชุมชนบางส่วนยังขาดการติดตามในเรื่องพฤติกรรมของนักเรียน ทำให้การแก้ไขปัญหานักเรียนทำไม่เต็มที่ไม่มีเวลาดูแลลูก เกิดปัญหาตามมาทางสังคมมากมาย นักเรียนเลียนแบบสังคม ขาดความรับผิดชอบคุณงามความดีในสังคมลดน้อยลง (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน). 2555 : 54) เมื่อปีการศึกษา 2561 คณะครูได้มีการประชุมร่วมกันของกลุ่มผู้ร่วมวิจัย ซึ่งเป็นครูที่ปรึกษาและเป็นครูผู้สอนรายวิชา และจากการรายงานการติดตามตรวจสอบพฤติกรรมนักเรียนของครูประจำชั้นและจากผู้ปกครองที่เกี่ยวกับพฤติกรรมต่างๆ ของนักเรียน พบว่า ร้อยละ 2.71 ของนักเรียนช่วงชั้นที่ 1-2 มีปัญหาด้านความรับผิดชอบต่อตนเอง เช่น ความสะอาดของการร่างกาย และแต่งกายไม่ถูกระเบียบโรงเรียน และร้อยละ 3.61 พบว่า จะมีปัญหาด้านความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เช่น นักเรียนชอบทิ้งขยะ เศษกระดาษจากการรับประทานอาหาร ขนม นม ได้แก่ เศษกระดาษ ซองขนม ถุงพลาสติกใส่ผลไม้ ถุงนม ไม้เสียบลูกชิ้น ซองไอศกรีม ไม้เสียบไอศกรีม ก่อให้เกิดขยะเกลื่อนบริเวณโรงเรียนและห้องเรียน ซึ่งเป็นการบ่มเพาะนิสัยอันไม่พึงประสงค์ด้านจิตใจที่ไม่มีคุณธรรมด้านรักความสะอาด จะเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ดังนั้น ผู้วิจัยในฐานะผู้บริหารสถานศึกษา ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา
และได้รับมอบหมายปฏิบัติหน้าที่บริหารทั่วไป กิจการนักเรียนและรับผิดชอบโครงการส่งเสริมระเบียบวินัยนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความมีวินัยให้เกิดขึ้นกับนักเรียน ถึงแม้ว่าจะเป็นจำนวนนักเรียนส่วนน้อย แต่ต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนในการแก้ปัญหาเหล่านี้ หากไม่ได้รับการพัฒนาแก้ไขอาจส่งผลต่อคุณภาพนักเรียนด้านอื่นๆ นักเรียน ซึ่งอาจมีปัญหาในการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบันและอนาคตได้จึงมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กให้เป็นคนดีเป็นอันดับแรก ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องปลูกฝังให้นักเรียนเป็นคนดี มีคุณลักษณะตรงตามหลักสูตรที่กำหนด เพื่ออนาคตของนักเรียนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า เป็นกำลังของประเทศชาติในอนาคต จึงสนใจที่จะดำเนินการพัฒนาการเสริมสร้างวินัยนักเรียนที่มีปัญหาด้านความรับผิดชอบ โดยใช้การวิจัยปฏิบัติการ เพื่อให้นักเรียนมีวินัยด้านความรับผิดชอบต่อตนเองและความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านการมีวินัยของนักเรียนและเป็นเยาวชนที่ดีของชาติต่อไป
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
เพื่อพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียน โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก ด้านความรับผิดชอบต่อตนเองและด้านความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
กลุ่มผู้ร่วมวิจัยและผู้ให้ข้อมูล
1. กลุ่มผู้ร่วมวิจัยและผู้ให้ข้อมูล จำนวน 19 คน ประกอบด้วย
1.1 ผู้วิจัย ซึ่งเป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว
1.2 ผู้ร่วมวิจัย ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลหลัก เข้าร่วมวิจัยด้วยความยินดีและสมัครใจ จำนวน 18 คน
1.3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 โรงเรียนเทศบาล
วัดดอนแก้ว สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก จำนวน 35 คน ซึ่งได้มาจากการสังเกตพฤติกรรมนักเรียนที่มีปัญหาด้านความรับผิดชอบ 2 ด้าน ดังนี้
1.3.1 นักเรียนที่มีปัญหาด้านความรับผิดชอบต่อตนเอง จำนวน 15 คน
1.3.2 นักเรียนที่มีปัญหาด้านความรับผิดชอบต่อส่วนรวม จำนวน 20 คน
1.4 กลุ่มผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม จำนวน 46 คน
2. กรอบแนวคิดในการวิจัย
2.1 กรอบเนื้อหา
การวิจัยการพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบโรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก ผู้วิจัยมุ่งเน้น
การพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบ 2 ด้าน ดังนี้
2.1.1 ด้านความรับผิดชอบต่อตนเอง ได้แก่ การรักษาความสะอาด
ของร่างกาย
2.1.2 ด้านความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ได้แก่ การรักษาความสะอาด
ของสถานศึกษา
2.2 กรอบกลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนา
กลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบ โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก ครั้งนี้
ผู้วิจัยร่วมกับกลุ่มผู้ร่วมวิจัย ประชุมพิจารณาได้ข้อสรุปใช้กลยุทธ์ ดังนี้
2.2.1 การประชุมแบบมีส่วนร่วม
2.2.2 การนิเทศ กำกับ ติดตาม
2.2.3 การเสริมแรง
ขั้นตอนดำเนินการวิจัย
การดำเนินการวิจัยในครั้งนี้ใช้หลักการวิจัยปฏิบัติการ (Action Research) เพื่อนำผลจากการวิจัยไปพัฒนาการดำเนินการเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบ โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก โดยขั้นตอนการวิจัยปฏิบัติการของ เคมมิสและแม็กแท็กการ์ต (Kemmis and Mc Taggart. 1988 : 11-15) โดยดำเนินการเป็น 2 วงรอบ (Spiral) แต่ละวงรอบ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ การวางแผน (Planning) การปฏิบัติ (Action) การสังเกต(Observation) และการสะท้อนผล (Reflection) โดยดำเนินการ ดังนี้
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
เครื่องมือที่ใช้สำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท
1. แบบบันทึก 2 ฉบับ ได้แก่
1.1 แบบบันทึก ฉบับที่ 1 เป็นแบบบันทึกการประชุมแบบส่วนร่วม โดยระดม
ความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
1.2 แบบบันทึก ฉบับที่ 2 เป็นแบบบันทึกพฤติกรรมด้านความรับผิดชอบ
ต่อตนเอง
2. แบบสังเกต 1 ฉบับ เป็นแบบสังเกตการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างวินัยนักเรียนของครูประจำชั้น
3. แบบประเมิน แบ่งออกเป็น 3 ฉบับ ได้แก่
3.1 แบบประเมิน ฉบับที่ 1 เป็นแบบประเมินพฤติกรรมด้านความรับผิดชอบ
ต่อตนเอง (การแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายที่สะอาด ความสะอาดของร่างกาย และการแต่งกายถูกระเบียบของโรงเรียนที่กำหนด)
3.2 แบบประเมิน ฉบับที่ 2 เป็นแบบประเมินพฤติกรรมด้านความรับผิดชอบต่อส่วนร่วม (การทำความสะอาดของห้องเรียน)
3.3 แบบประเมิน ฉบับที่ 3 เป็นแบบประเมินพฤติกรรมด้านความรับผิดชอบต่อส่วนรวม (การทำความสะอาดสถานศึกษา)
4. แบบสัมภาษณ์ 3 ฉบับ ได้แก่
4.1 แบบสัมภาษณ์ ฉบับที่ 1 เป็นแบบสัมภาษณ์เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหา
4.2 แบบสัมภาษณ์ ฉบับที่ 2 เป็นแบบสัมภาษณ์การนิเทศครูผู้เกี่ยวข้อง
4.3 แบบสัมภาษณ์ ฉบับที่ 3 เป็นแบบสัมภาษณ์ผู้ปกครองนักเรียน ผู้ร่วมวิจัยเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน การพัฒนาการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างวินัยนักเรียน
สรุปผล
ผลจากการพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียน
1. ด้านความรับผิดชอบต่อตนเอง
ในวงรอบที่ 1 มีการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาวินัยด้านความรับผิดชอบต่อตนเอง โดยกำหนดกิจกรรมในการพัฒนา 1 กิจกรรม คือ กิจกรรมธรรมะชนะ
กิเลศ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบต่อตนเอง ได้แก่ การรักษาความสะอาดของร่างกาย และเครื่องแต่งกาย การรู้จักดูแลรักษาความสะอาดของเสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า และสวมใส่ให้ถูกต้องตามระเบียบของโรงเรียน การรักษาความสะอาดของร่างกาย เล็บ ฟัน ผม โดยดำเนินการ พัฒนาเริ่มจากการประชุมวางแผนร่วมกับผู้ร่วมวิจัย ประชุมรายละเอียด ขั้นตอนการจัดกิจกรรม และเกณฑ์การประเมินต่างๆ ครูประจำชั้นและครูเวรประจำวัน แจ้งรายละเอียดของกิจกรรมให้นักเรียนทุกคนทราบ ครูเวรประจำวันมีการกวดขันกำกับ ติดตาม และประเมินผล การรักษาความสะอาดของการแต่งกาย ผลการดำเนินกิจกรรมบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ นักเรียนกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 15 คน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการรักษาความสะอาดของการแต่งกาย สามารถพัฒนาตนเองให้ระดับคุณภาพอยู่ในระดับมากทุกคน บรรลุเป้าหมายที่กำหนด
2. ด้านความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
ในวงรอบที่ 1 การพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบต่อส่วนรวม โดยกำหนดกิจกรรมในการพัฒนา คือ กิจกรรมห้องเรียนสะอาดและกิจกรรมบริเวณรับผิดชอบ มีการมอบหมายงานให้นักเรียน แต่ละชั้นรับผิดชอบห้องเรียน ห้องน้ำ ห้องส้วม และบริเวณโรงเรียน ในการทำความสะอาดทุกวัน มีการตรวจประเมินผลและบันทึกผล การสังเกตโดยครูเวรประจำวัน ครูประจำชั้น และคณะกรรมการนักเรียน ตัวแทนคณะกรรมการนักเรียนนำเสนอผลการตรวจประเมินในช่วงทำกิจกรรมหน้าเสาธงตอนเช้าทุกวัน ผลการดำเนินงาน ในวงรอบที่ 1 ปรากฏว่า มีจำนวนนักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่ขาดวินัยด้านความรับผิดชอบต่อส่วนรวมลดจำนวนลงเหลือเพียง 2 คน จากกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 20 คน กล่าวคือ นักเรียนตั้งใจเอาใจใส่ในการปฏิบัติงานมากขึ้น บริเวณโรงเรียน ห้องเรียน ห้องน้ำ ห้องส้วม ห้องพิเศษและอาคารเรียนสะอาดมากขึ้น แต่การพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากความไม่ตระหนักในการรับผิดชอบร่วมกับผู้อื่น นักเรียนมาโรงเรียนสาย มีการใช้กระบวนการกลุ่มในการปฏิบัติงานน้อย ไม่มีการจัดบทบาทและหน้าที่ของนักเรียนทุกคนในห้องให้รับผิดชอบเป็นผู้นำในการดูแลในส่วนรวม และงานไม่สำเร็จตามเวลาที่กำหนดจึงได้ประชุมครูเพื่อหาแนวทางแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาต่อไปในวงรอบที่ 2 โดยมีการมอบหมายงานให้นักเรียนแต่ละคนอย่างชัดเจน ให้เปลี่ยนหัวหน้ากลุ่มแต่ละพื้นที่ที่รับผิดชอบ ให้นักเรียนทุกคนได้มีโอกาสเป็นผู้นำเป็นหัวหน้ากลุ่ม และนำหลักการเสริมแรงมาใช้กระตุ้น โดยจัดกิจกรรมห้องเรียนสะอาดและกิจกรรมบริเวณรับผิดชอบ โดยการประกวดห้องเรียนดีเด่นและบริเวณโรงเรียนสะอาดในภาพรวมทั้งห้อง นำผลการสังเกตการตรวจประเมินในแต่ละวัน รวบรวมจัดลำดับเพื่อประกาศยกย่องชมเชยและมอบเกียรติบัตร ปรากฏว่า นักเรียนกลุ่มเป้าหมายทั้ง 20 คน ให้ความสนใจ กระตือรือร้นในการทำงาน มาโรงเรียนสายน้อยลง ห้องเรียน ห้องน้ำ ห้องส้วม อาคารเรียน และบริเวณโรงเรียนที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่มีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อยนักเรียนได้ช่วยเหลือและร่วมมือกันทำงานเสร็จตามเวลาที่กำหนดและผลการปฏิบัติกิจกรรมหรือผลงานที่สำเร็จมีคุณภาพ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีกิจกรรมและขั้นตอนบางส่วนที่จะต้องมีการปรับปรุงพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่อย่างยั่งยืนสืบไป
ผลการพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบ โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก ในวงรอบที่ 2 โดยใช้กลยุทธ์การเสริมแรง ประกอบด้วยกิจกรรม 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมห้องเรียนสะอาด และกิจกรรมบริเวณรับผิดชอบ โดยให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายมีการลงเวลามาโรงเรียน กิจกรรมห้องเรียนสะอาด กิจกรรมบริเวณรับผิดชอบ ครูประจำชั้นคอยกำกับ ติดตาม วิธีการและขั้นตอนการปฏิบัติกิจกรรม คณะกรรมการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมการปฏิบัติกิจกรรม ประเมินผลการปฏิบัติปฏิบัติกิจกรรมเหมือนกับวงรอบที่ 1 พบว่า นักเรียนกลุ่มเป้าหมายทุกคน มาโรงเรียนช่วงเวลาก่อน 08.00 น. แล้วปฏิบัติกิจกรรมห้องเรียนสะอาดและกิจกรรมบริเวณรับผิดชอบ ปรากฏว่าผลการปฏิบัติงานเสร็จทันตามเวลาที่กำหนดหรือผลงานที่สำเร็จมีระดับมาก
สรุปผลการพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบ
ทั้ง 2 วงรอบ
1. ด้านความรับผิดชอบต่อตนเอง
สรุปผลการดำเนินการพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบ ทั้ง 2 วงรอบนั้น มีจำนวนนักเรียนที่ไม่มีวินัยด้านความรับผิดชอบต่อตนเอง
จำนวน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 14.44 ลดลงเหลือร้อยละ 0.00 บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่งผลให้นักเรียนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความมีวินัยด้านความรับผิดชอบต่อตนเอง ได้แก่ การรักษาความสะอาดของร่างกาย และเครื่องแต่งกาย รู้จักดูแลรักษาความสะอาดของเสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า แต่งกายสะอาด เรียบร้อย สวยงาม ถูกระเบียบของโรงเรียน และรู้จักรักษาความสะอาดของร่างกาย ปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ
2. ด้านความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
สรุปผลการพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ทั้ง 2 วงรอบนั้น มีจำนวนนักเรียนที่ไม่มีวินัยด้านความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ได้แก่การรักษาความสะอาดสถานศึกษา ขาดวินัยด้านการรักษาความสะอาดของห้องเรียน ห้องน้ำ ห้องส้วม ห้องพิเศษ อาคารเรียน และบริเวณโรงเรียน จำนวน 20 คน คิดเป็นร้อยละ 19.23 ลดลงเหลือร้อยละ 0.00 บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ นักเรียนกลุ่มเป้าหมายมาโรงเรียนก่อนเวลา 08.00 น. นักเรียนให้ความร่วมมือกันในการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย มีความกระตือรือร้น ตั้งใจและเอาใจใส่ในการทำงานมากขึ้น มีการใช้กระบวนการกลุ่มในการทำงาน ส่งผลให้โรงเรียนสะอาด สวยงาม มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
อภิปรายผล
การพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบ โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก โดยใช้กลยุทธ์ในการพัฒนา คือ การประชุมแบบมีส่วนร่วม การนิเทศ กำกับ ติดตาม และการเสริมแรง กลยุทธ์การเสริมแรง ประกอบด้วยกิจกรรมสนับสนุน 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมธรรมะชนะกิเลศ กิจกรรมห้องเรียนสะอาด และกิจกรรมบริเวณรับผิดชอบ เมื่อครบ 2 วงรอบแล้ว ทำให้นักเรียนให้ความร่วมมือกันในการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายมีความกระตือรือร้น ตั้งใจและเอาใจใส่ในการทำงานมากขึ้น มีการใช้กระบวนการกลุ่มในการทำงานส่งผลให้โรงเรียนสะอาด สวยงาม มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัย ณัฐพร ฝ่ายขันธ์ (2560 : 131-135) พบว่า แนวทางการพัฒนาศักยภาพครูในการเสริมสร้างวินัยนักเรียน ได้แก่ การประชุมเชิงปฏิบัติการ การดำเนินการพัฒนาศักยภาพครูในการเสริมสร้างวินัยนักเรียน และการนิเทศภายในสอดคล้องกับผลการวิจัยของ จุฑารัตน์ เต็มแสง (2559 : 160-169 พบว่า แนวทางการเสริมสร้างวินัยนักเรียน ประกอบด้วย การประชุมแบบมีส่วนร่วม กิจกรรมเสริมสร้างวินัยนักเรียน ได้แก่ กิจกรรมประกวดห้องเรียนคุณภาพ กิจกรรมโฮมรูม กิจกรรมอบรมคุณธรรมจริยธรรมทุกวันศุกร์ กิจกรรมเยี่ยมบ้านนักเรียน และการนิเทศภายใน หลังการเสริมสร้างวินัย นักเรียนช่วยทำให้นักเรียนมีพฤติกรรมทางด้านวินัยโดยภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน หลังได้รับการเสริมสร้างวินัยสูงกว่าก่อนการเสริมสร้างวินัย สอดคล้องกับผลการวิจัยของธนากร ณิชเสฏฐี (2559 : 26-27) พบว่า การเสริมสร้างวินัยต่อตนเองของนักเรียน โดยใช้กิจกรรมโฮมรูม กิจกรรมเยี่ยมบ้าน กิจกรรมเสริมแรงบวก และการนิเทศกำกับ ติดตามผล สามารถทำให้นักเรียนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการแต่งกายถูกต้องตามระเบียบ ตรงต่อเวลาในการเข้าแถวหน้าเสาธง และมีความรับผิดชอบในการส่งงานที่ได้รับมอบ สอดคล้องกับผลการวิจัยของพรรณรุจี สะอาด (2558 : 78-80) พบว่า แนวทางการพัฒนาวินัยนักเรียน ได้เสนอไว้ 3 ด้าน คือ ด้านการแต่งกาย โรงเรียนควรมีระเบียบที่ชัดเจนในการแก้ไขพฤติกรรม และมีการควบคุมตรวจสอบอยู่ด้วย ด้านความประพฤติ ครูควรให้ผู้ปกครอง ชุมชน รับรู้ถึงปัญหาและมีส่วนร่วมในการหาแนวทางป้องกัน แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดกับนักเรียนและด้นการปฏิบัติตน ครูควรตักเตือนทุกครั้งเมื่อเห็นนักเรียนทำผลระเบียบวินัยของโรงเรียน ควรให้นักเรียนมีส่วนร่วม
ในการแสดงความคิดเห็นเรื่องการสร้างระเบียบวินัยของโรงเรียน สอดคล้องกับผลการวิจัยของนภดล ครสาย (2558 : 159-172) พบว่า แนวทางการเสริมสร้างวินัยด้านความรับผิดชอบของนักเรียน ประกอบด้วย การประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างวินัยด้านความรับผิดชอบของนักเรียน 6 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมโฮมรูม กิจกรรมคำมั่นสัญญา กิจกรรมประกวดนักเรียนต้นแบบ กิจกรรมเขตพื้นที่รับผิดชอบ กิจกรรมประกวดห้องเรียนสะอาด กิจกรรมเยี่ยมบ้าน และการนิเทศติดตาม สามารถจัดกิจกรรมเสริมสร้างวินัยของนักเรียนด้านความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อสังคมได้อย่างต่อเนื่องเป็นระบบมากขึ้น ทำให้นักเรียนมีวินัยและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นทั้งด้านความรับผิดชอบต่อตนเองและด้านความรับผิดชอบต่อสังคม สอดคล้องกับผลการวิจัยของ กิตติศักดิ์ ศรีทา (2557 : 78-80) พบว่ากลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาระเบียบวินัยและการติดตามผล ซึ่งมีกิจกรรมการพัฒนา คือ กิจกรรมสัมพันธ์ ชุมชน บ้าน โรงเรียน ผลการพัฒนาพบว่า นักเรียนมีระเบียบวินัยในระดับที่ดีขึ้น
จากการใช้กลยุทธ์ในการพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบ โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก ให้มีผลการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้วนั้น สามารถอภิปรายผล ดังนี้
1. กลยุทธ์การประชุมแบบมีส่วนร่วม ที่ใช้ในการพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียน มีความมุ่งหมายเพื่อให้กลุ่มผู้ร่วมวิจัยและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมประชุม ร่วมคิด ร่วมปรึกษาหารือ ร่วมวางแผน ศึกษาสภาพการพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียน กำหนดแนวทางและกำหนดกิจกรรมเพื่อใช้ในการพัฒนางานเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบ เช่น การวิเคราะห์หาสาเหตุ ปัญหาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยของนักเรียน การกำหนดกิจกรรมพัฒนาวินัยนักเรียน และการกำหนดตัวผู้รับผิดชอบการปฏิบัติกิจกรรมเสริมสร้างวินัยอย่างชัดเจน แล้วนำไปปฏิบัติงานจน เกิดผลสำเร็จ สอดคล้องกับผลการวิจัยของ ณัฐพร ฝ่ายขันธ์ (2560 : 131-135) พบว่า สภาพและปัญหาการดำเนินงานการเสริมสร้างวินัยด้านความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อส่วนรวมของนักเรียน พบว่า การจัดการเรียนรู้ในการเสริมสร้างวินัยนักเรียนยังไม่เป็นระบบและต่อเนื่อง ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีวินัย ไม่เชื่อฟังครู ขาดความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อส่วนรวม ขาดจิตสาธารณะและครูยังไม่ค่อยเน้นเรื่องวินัยนักเรียนทั้งด้านความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อส่วนรวมของนักเรียนเท่าที่ควรปัญหาการดำเนินงานการเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อส่วนรวมของนักเรียน สอดคล้องกับผลการวิจัยของ ชาญชัย ศรีเพชร (2557 : 119-125) พบว่า สภาพและปัญหาการมีวินัยของนักเรียน มีพื้นฐานด้านวินัยความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อโรงเรียนค่อยข้างน้อย คณะครูและนักเรียนมีความตระหนักที่จะได้รับการเสริมสร้างวินัยด้านความรับผิดชอบต่อตนเอง และวินัยด้านความรับผิดชอบต่อโรงเรียนให้กับนักเรียน สอดคล้องกับผลการวิจัยของ ณภัสสร เสนเพ็ง (2556 : 1073112) พบว่า สภาพของการมีวินัยนักเรียน ผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นว่านักเรียนยังไม่มีวินัยเท่าที่ควร โดยเฉพาะที่เห็นชัดเจน คือมีนักเรียนบางส่วนยังมีการแต่งกายไม่ถูกระเบียบ นำเอาเสื้อออกนอกกางเกง ไม่สวมรองเท้านักเรียนมาเรียน ชอบสวมรองเท้าแตะมาเรียน ไม่มาเข้าแถวหน้าเสาธง เข้าเรียนไม่ตรงเวลา ขาดความรับผิดชอบในการทำงาน การส่งงานก็ไม่ตรงเวลา ปัญหาเกิดจากการที่นักเรียนไม่ทราบข้อบังคับที่ชัดเจน การไม่เห็นความสำคัญของการมีวินัย การเรียกร้องความสนใจการเลียนแบบเพื่อน ครูขาดการเอาใจใส่นักเรียนในปกครอง และผู้ปกครองก็ขาดการเอาใจใส่ดูแลในตัวเด็ก และสอดคล้องกับแนวคิดของ โสพัส ศิริไสย์ (2561 : เว็บไซด์) กล่าวว่า การประชุมแบบมีส่วนร่วม เป็นการประชุมและสนทนาแบบกัลยาณมิตร ทุกคนสนทนาด้วยความรู้สึกเชิงบวก มีอิสระในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งจะทำให้ทุกคนเกิดแนวคิดสร้างสรรค์ บนหลักการประชาธิปไตย และสามารถสรุปผลของการประชุมได้อย่างน่าพอใจและนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้น การใช้กลยุทธ์การประชุมแบบมีส่วนร่วม จึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบ โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก
2. กลยุทธ์การนิเทศ กำกับ ติดตาม ที่ใช้ในการพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียน เป็นการจัดทำคู่มือการดำเนินงานให้กับนักเรียน ได้ปฏิบัติตามกิจกรรมและขั้นตอนต่างๆ เนื่องจากผู้ปฏิบัติกิจกรรมเป็นนักเรียนระดับประถมศึกษา ซึ่งยังไม่มีทักษะในการปฏิบัติกิจกรรม การนิเทศกำกับ ติดตาม มีความมุ่งหมายเพื่อให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายสามารถปฏิบัติกิจกรรมตามแนวทางที่กำหนดไว้ ให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ สุรศักดิ์ ปาเฮ (2545 : 25) กล่าวว่า การนิเทศภายใน เป็นการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างผู้บริหารกับครูในโรงเรียน ในการปรับปรุงแก้ไขการพัฒนาการทำงานของครู ให้มีประสิทธิภาพและส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียน สอดคล้องกับแนวคิดของ กรมวิชาการ (2542 : 16) ได้กล่าวว่า การนิเทศภายใน เป็นกระบวนการที่ผู้นิเทศภายในสถานศึกษา ประกอบด้วย ผู้บริหาร ผู้ช่วยผู้บริหาร หัวหน้าหมวดวิชา ครูผู้ชำนาญการ ครูผู้ร่วมนิเทศดำเนินการโดยใช้ภาวะผู้นำ ทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกัน และสอดคล้องกับผลการวิจัยของ ชุมชัย ฉายจิต (2552 : 91-99 พบว่า เทคนิคการประชุมกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ การนิเทศภายใน กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ และการจัดกิจกรรมที่หลากหลายมีความสัมพันธ์ต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมความมีวินัยของนักเรียนในด้านการรักษาความสะอาด ด้านการแต่งกายและด้านการแสดงความเคารพ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการศึกษาพฤติกรรมความมีวินัยนักเรียนในด้านอื่นหรือในองค์กรอื่นต่อไป
3. กลยุทธ์การเสริมแรง ที่ใช้ในการพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียน
มีความมุ่งหมายเพื่อยกย่องชมเชย ประกาศเกียรติคุณมอบเกียรติบัตรและประกาศยกย่องคนดี เพื่อให้นักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทิศทางที่โรงเรียนต้องการสามารถทำให้การดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านการรักษาความสะอาดให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นเรียบร้อยประสบผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลักการเสริมแรงของ สมพร สุทัศนีย์ (2544 : 136) กล่าวว่า การให้แรงเสริม เป็นวิธีการของการเรียนรู้แบบวางเงื่อนไขการกระทำของสกินเนอร์ เป็นวิธีการที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ไขพฤติกรรมของนักเรียนในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับผลการวิจัยของสุรัตน์ ตะโก (2554 : 91-95) พบว่า การพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียน ด้านความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 14 อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ตามกลยุทธ์โดยใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการ การดำเนินกิจกรรมเพื่อการเสริมสร้างวินัยนักเรียน 5 กิจกรรม และการนิเทศติดตาม การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการเสริมแรงที่ใช้กิจกรรมการหลังการพัฒนาทั้ง 2 วงรอบ ทำให้นักเรียนมีความรับผิดชอบต่อตนและต่อส่วนรวมได้ครบทุกคนตามจุดมุ่งหมาย
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะเพื่อการนำไปใช้
1.1 การพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียนด้านความรับผิดชอบ โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรร่วมมือกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาด้านวินัยนักเรียนได้เป็นอย่างดี
1.2 การพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียน ผู้บริหารสถานศึกษา ครู คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนต้องเป็นแบบอย่างที่ดี กระตุ้น สอน เดือนสตินักเรียนด้วยเหตุผล อย่าเพิกเฉยเวลาเห็นนักเรียนทำผิด
1.3 ผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัย ควรติดตามผลการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับโรงเรียน ในชุมชน และในครอบครัวของนักเรียน เพื่อนำผลมาปรับกิจกรรมให้เหมาะสมกับนักเรียนมากยิ่งขึ้น
1.4 การเสริมสร้างวินัยนักเรียน ควรจัดกิจกรรมส่งเสริมวินัยภายนอกโรงเรียนให้สอดคล้องสัมพันธ์กับภายในโรงเรียนจึงจะเกิดผลต่อเนื่องและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
2. ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป
2.1 ควรวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียน
ด้านอื่นๆ เช่น วินัยด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
2.2 ควรศึกษากลยุทธ์และกิจกรรมอื่นๆ ที่มีผลต่อการพัฒนาวินัยนักเรียน
โดยใช้กลยุทธ์และกิจกรรมแปลกใหม่และน่าสนใจ โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการวางแผนดำเนินกิจกรรมตามแผนและประเมินผล
2.3 ควรทำการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาการดำเนินงานกิจการนักเรียน
ในด้านอื่นๆ
เอกสารอ้างอิง
กรมวิชาการ. กรอบความคิดเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมที่เน้นความมี
วินัยและความเป็นประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ, 2542.
กุลชา ศิริเฉลิมพงศ์. แนวทางการพัฒนาความมีวินัยในตนเองของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์. วิทยานิพนธ์
ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2544.
จุฑารัตน์ เต็มแสง. การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างวินัยนักเรียน
โรงเรียนบ้านหนองตากล้า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ
เขต 2. วิทยานิพนธ์ ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหาร
การศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ, 2559.
ชาญชัย ศรีเพชร. การเสริมสร้างวินัยนักเรียนโรงเรียนสว่างแดนดิน สำนักงาน
เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23. วิทยานิพนธ์ ปริญญาครุศาสตร
มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร,
2557.
ชุมชัย ฉายจิต. การดำเนินงานด้านการเสริมสร้างวินัยนักเรียน โดยใช้กระบวนการ
มีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ : กรณีศึกษาโรงเรียนเทศบาล 4 วัดใต้โพธิ์ค้ำ
อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์. วิทยานิพนธ์ ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, 2552.
ณภัสสร เสนเพ็ง. การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาวินัยนักเรียน
โรงเรียนนาวาราชกิจพิทยานุสรณ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
มัธยมศึกษา เขต 22. วิทยานิพนธ์ ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา
การบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร, 2556.
ณัฐพร ฝ่ายขันธ์. การพัฒนาศักยภาพครูในการเสริมสร้างวินัยนักเรียน โรงเรียน
อนุบาลสาสน์สิทธิ์อำนวย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
บึงกาฬ. วิทยานิพนธ์ ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหาร
การศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร, 2560.
ธนาธร ณิชเสฏฐี. การเสริมสร้างวินัยนักเรียนต่อตนเองของนักเรียน โรงเรียน
หนองขามพิทยาคม อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น. วารสารวิทยาลัยบัณฑิต
เอเชีย. วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย. 1 (1) : 26-32 ; มกราคม-มิถุนายน, 2559.
นพดล ครสาย. การเสริมสร้างวินัยด้านความรับผิดชอบของนักเรียนโรงเรียนเต่างอย
พัฒนศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23.
วิทยานิพนธ์ ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร, 2558.
พรรณรุจรี สะอาด. ปัญหาและแนวทางการพัฒนาวินัยนักเรียนของโรงเรียนบ้านแก้ว
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1. งานนิพนธ์
ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
มหาวิทยาลัยบูรพา, 2558.
พระธรรมปิฎก. (ป.อ.ปยุตฺโต). วินัย เรื่องที่ใหญ่กว่าที่คิด. กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ
กระทรวงศึกษาธิการ, 2539.
พิสมัย ทินเต. การใช้กิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาวินัยในตนเองของนักเรียน
มัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนขอนแก่นนครวิทยาลัย 2 จังหวัดขอนแก่น.
วิทยานิพนธ์ ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2544.
โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว. กรอบการปฏิบัติงาน (Job Description). ตาก :
กองการศึกษา เทศบาลนครแม่สอด, 2560.
_______. รายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) ประจำปีงบประมาณ
2561. ตาก : กองการศึกษา เทศบาลนครแม่สอด, 2561.
สมพร สุทัศนีย์. การทดสอบทางจิตวิทยา. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย, 2544.
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน).
รายงานผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (พ.ศ.2554-2558)
ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว. กรุงเทพฯ, 2555.
สำนักนายกรัฐมนตรี. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม
ฉบับที่ 2 พ.ศ.2545. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2545.
สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ. การสร้างวินัยเชิงบวก
สำหรับงานดูแลและช่วยเหลือนักเรียน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2551.
สุรศักดิ์ ปาเฮ. การนิเทศภายในหัวใจของการปฏิรูปการเรียนรู้ในโรงเรียน,
วารสารวิชาการ. 5 (8) : 26 ; สิงหาคม, 2545.
สุรัตน์ ตะโก. การพัฒนาการดำเนินงานเสริมสร้างวินัยนักเรียน ด้านความรับผิดชอบ
ต่อตนเองและส่วนรวมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 14 อำเภอเมือง จังหวัด
หนองคาย. การศึกษาค้นคว้าอิสระ ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชา
การบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2554.