ชื่อเรื่อง : การพัฒนารูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนเทศบาล 9 มณเฑียรทองอนุสรณ์
ผู้วิจัย : นายวัฒนา สมจิตร
หน่วยงาน : โรงเรียนเทศบาล 9 มณเฑียรทองอนุสรณ์ สำนักการศึกษา เทศบาลนครอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
ปีที่รายงาน : 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาองค์ประกอบของรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมของคณะกรรมการ สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนเทศบาล 9 มณเฑียรทองอนุสรณ์ 3) เพื่อประเมินรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนเทศบาล 9 มณเฑียรทองอนุสรณ์ การวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะตามลำดับ ดังนี้ ระยะที่ 1 ผลการศึกษาองค์ประกอบและตัวชี้วัดการพัฒนารูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดเทศบาลนครอุดรธานี ผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบประเมิน ระยะที่ 2 ผลการศึกษาสภาพปัจจุบัน สภาพที่พึงประสงค์การพัฒนารูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดเทศบาลนครอุดรธานี ได้แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน 1) ศึกษาสภาพปัจจุบัน สภาพที่พึงประสงค์ โดยศึกษาจากประชากร ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนครู ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้แทนผู้ปกครอง และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 156 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม
2) ศึกษาสถานศึกษาที่มีวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) จำนวน 3 โรงเรียน กลุ่มผู้ให้ข้อมูล คือ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนครู ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้แทนผู้ปกครอง และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ ระยะที่ 3 ผลการพัฒนาการพัฒนารูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนเทศบาล 9 มณเฑียรทองอนุสรณ์ โดยการสนทนากลุ่ม กลุ่มผู้ให้ข้อมูลเลือกแบบเจาะจง คือ ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน ยืนยัน ตรวจสอบและประเมินแนวทางการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และ
ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
1. องค์ประกอบและตัวชี้วัดการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มี 4 องค์ประกอบ และ 20 ตัวชี้วัด ได้แก่ การมีส่วนร่วมในการวางแผน
การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การมีส่วนร่วมในการดำเนินการ การมีส่วนร่วมในการประเมินผล และ การมีส่วนร่วมในการร่วมรับผลประโยชน์ โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่ามีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน เรียงลำดับคะแนนเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย ได้ดังนี้ ด้านบริหารทั่วไป ด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ และด้านบริหารงานบุคคล
2. สภาพปัจจุบันการบริหารแบบมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดเทศบาลนครอุดรธานี โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับปานกลาง 2 ด้าน และอยู่ในระดับน้อย 2 ด้าน เรียงลำดับคะแนนเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย ได้แก่ด้านบริหารทั่วไป ด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ และด้านบริหารงานบุคคล
สภาพที่พึงประสงค์การบริหารแบบมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดเทศบาลนครอุดรธานี โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทั้ง 4 ด้าน เรียงลำดับคะแนนเฉลี่ยจาก มากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านบริหารทั่วไป ด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ และด้านบริหารงานบุคคล
3. การประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของแนวทางการบริหารแบบมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนเทศบาล 9 มณเฑียรทองอนุสรณ์ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และมีความเป็นไปได้
ในระดับมากที่สุด
การประเมินคู่มือแนวทางการบริหารแบบมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนเทศบาล 9 มณเฑียรทองอนุสรณ์ โดยทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คนโดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และมีความเป็นไปได้ในระดับมากที่สุด