ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการสอน FACT Model เพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้
ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ รายวิชาชีววิทยา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ชื่อผู้ศึกษา นางรัตติญา รังเสนา
โรงเรียนมัธยมหนองเขียด อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
ปีที่ศึกษา ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R&D) มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการในการพัฒนารูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ 2) พัฒนารูปแบบการสอนรายวิชาชีววิทยาสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 3) เปรียบเทียบความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ รายวิชาชีววิทยา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนด้วยรูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ก่อนเรียนและหลังเรียน 4) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อรูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 26 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนมัธยมหนองเขียด แบบแผนการทดลอง แบบกลุ่มเดียวทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน (One Group Pretest - Posttest Design) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย รูปแบบการสอน คู่มือการใช้รูปแบบการสอน แผนการจัดการเรียนรู้ แบบประเมินความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ แบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ แบบประเมินพฤติกรรมการทำงานกลุ่ม แบบประเมินการอภิปรายและนำเสนองาน และแบบประเมินความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการสอน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย (X-bar ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการวิจัยพบว่า
1) ข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการสอนพบว่า ครูมีความจำเป็นและมีความต้องการด้านการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และการสอนคิดหลายด้าน ได้แก่ ความต้องการความรู้ในการจัดการเรียนการสอน วิธีการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย การจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ต้องการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เน้นการปฏิบัติจริง ต้องการวิธีสอนที่เร้าความสนใจในการเรียน ต้องการให้นักเรียนกล้าพูด กล้าแสดงออกในทางที่ถูกต้อง และต้องการให้นักเรียนได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
2) ผลการพัฒนารูปแบบการสอน เพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ รายวิชาชีววิทยา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พบว่า ได้รูปแบบการสอนที่มีชื่อว่า FACT Model ประกอบด้วยการบวนการการสอน 4 ขั้นตอนคือ ขั้นที่ 1 ขั้นค้นพบความจริงของปัญหาหรือสถานการณ์ (Fact finding) ขั้นที่ 2 ขั้นวิเคราะห์แนวทางหาคำตอบ (Analysing) ขั้นที่ 3 ขั้นร่วมมือกันเรียนรู้ (Collaborativing) ขั้นที่ 4 ขั้นการนำเสนอการถ่ายโยงความรู้ (Transfering)
3) ความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ รายวิชาชีววิทยา ของนักเรียนชั้น
มัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนด้วยรูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4) ผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อรูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ พบว่านักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ( X-bar= 4.67 , S.D.= 1.10)