บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาในการจัดการเรียนการสอนกิจกรรมแนะแนว ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 2) เพื่อพัฒนาการจัดกิจกรรมแนะแนว (Emega Model) ร่วมกับกระบวนการเรียนรู้แบบ 5 E เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการเผชิญและฝ่าฟันอุปสรรคในการเลือกศึกษาต่อของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 3) เพื่อทดลองใช้การจัดกิจกรรมแนะแนว (Emega Model) ร่วมกับกระบวนการเรียนรู้แบบ 5 E ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 4)เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยการจัดกิจกรรมแนะแนวของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2561 จำนวน 51 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบวิเคราะห์รูปแบบการเรียนรู้ (Emega Model) รูปแบบการเรียนรู้ (Emega Model) แบบประเมินรูปแบบการเรียนรู้ (Emega Model) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
สรุปผลการวิจัย
การใช้โมเดลจัดกิจกรรมแนะแนว (Emega Model) เพื่อพัฒนาการเลือกศึกษาต่อของ
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สามารถสรุปผลการวิจัยได้ ดังนี้
1. ผลการวิจัยพบว่า
ผลการศึกษาสภาพและปัญหาการจัดการเรียนรู้กิจกรรมแนะแนว พบว่า ครูยังคงเน้นการบรรยายเนื้อหาเป็นหลัก ไม่มีรูปแบบ เทคนิค วิธีการสอน และกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ กิจกรรมไม่น่าสนใจ สื่อและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้มีการนำมาใช้น้อย ขาดแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ นักเรียนมีความหลากหลายและแตกต่างกัน แหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียนไม่เพียงพอ นักเรียนไม่ตั้งใจเรียนขาดเรียนบ่อย ไม่กระตือรือร้น ไม่สนใจใฝ่รู้และมีความเป็นตัวเองสูง
2. ผลการพัฒนาการจัดกิจกรรมแนะแนว (Emega Model) ร่วมกับกระบวนการเรียนรู้แบบ 5 E เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการเผชิญและฝ่าฟันอุปสรรคในการเลือกศึกษาต่อของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
2.1 ผลการพัฒนาการจัดกิจกรรมแนะแนว (Emega Model) ร่วมกับกระบวนการเรียนรู้แบบ 5 E เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการเผชิญและฝ่าฟันอุปสรรคในการเลือกศึกษานั้น การจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ 5 E โดยมีการเรียน 5 ขั้นตอน เน้นให้ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเองจากการลงมือปฏิบัติงานในสถานการณ์จริง สืบค้นหาความรู้ได้ตนเอง กระบวนการที่ให้พัฒนาทักษะการคิดทางสมอง ได้แก่ การตั้งสมมติฐาน กำหนดปัญหา การจัดประเภทของข้อมูล เพื่อให้เกิดทักษะที่จะนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และสามารถเข้าใจวิธีการเรียนรู้ของตนได้ โดยเรียนรู้ร่วมกับmega skills มี 11 ขั้นตอน ได้แก่ ความเชื่อมั่น แรงจูงใจ ความพยายามทุ่มเท ทำในสิ่งที่ถูก ความพร้อมในการลงมือกระทำ ความพากเพียรอุตสาหะ ความใส่ใจเอื้ออาทรผู้อื่น ความสามารถในการทำงานร่วมกับกลุ่ม สามัญสำนึก การนำสิ่งที่ได้ประยุกต์ใช้ ความมีจุดมุ่งหมายในการทำงาน การจัดกิจกรรมแนะแนว (Emega Model) โดยอาศัยกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายเป็นเครื่องมือที่จะนำพาผู้เรียนไปสู่เป้าหมายของหลักสูตร การจัดกระบวนการเรียนรู้ต้องให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียนโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เน้นการฝึกทักษะกระบวนการคิดและการจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา และให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้ พัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด
2.2 ผลการตรวจสอบรูปแบบการเรียนรู้ (Emega Model) โดยผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า มีความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนผลการหาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนแบบร่วมมือโดยใช้ รูปแบบการสอน(Emega Model) พบว่า มีค่าประสิทธิภาพ (E1/ E2) เท่ากับ 83.11/84.11 ซึ่ง สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่กำหนดไว้
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้ (Emega Model) พบว่า ค่าเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
4. ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยการจัดกิจกรรมแนะแนวของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.86 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.168