ชื่อเรื่อง การพัฒนาชุดการสอนการละเล่นพื้นบ้าน ร่วมกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานสำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
ผู้วิจัย นางกาญจนา มังคละคีรี
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล 1 (หนองแสง)
ปีที่ศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย คือ 1. เพื่อศึกษาปัญหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 2. เพื่อพัฒนาชุดการสอนการละเล่นพื้นบ้าน ร่วมกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก เรื่องทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ให้มีประสิทธิภาพ ตามเกณฑ์ 80/80 3. เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของชุดการสอนการละเล่นพื้นบ้าน ร่วมกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก(Active learning) เรื่องทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 4. เพื่อเปรียบเทียบทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียน ก่อนและหลังใช้ ชุดการสอนการละเล่นพื้นบ้าน ร่วมกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก(Active learning) เรื่องทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนเทศบาล 1 (หนองแสง) ต.ในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม จำนวน 38 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้มี 3 ชนิด คือ 1) แบบสอบถามปัญหาการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นแบบสอบถามซึ่งมีความตรงเชิงเนื้อหาและมีความเที่ยง .78 2) ชุดการสอนการละเล่นพื้นบ้าน ร่วมกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์เรื่อง ทักษะขั้นพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เป็นแบบทดสอบปรนัยชนิด 3 ตัวเลือก จำนวน 10 ข้อ ที่มีความตรงเชิงเนื้อหา มีความยากง่ายอยู่ระหว่าง .27 .73 อำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง .20 - .76 และมีความเที่ยงเท่ากับ .91 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมุติฐานใช้ t-test (แบบ Dependent Samples)
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. ครูผู้สอนมีความเห็นว่าปัญหาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ด้านตัวป้อนมีปัญหามากที่สุด รองลงมา เป็นปัญหาด้านผลผลิต ด้านกระบวนการ และด้านเนื้อหา ในด้านเนื้อหาพบว่าเนื้อหาที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ เรื่อง ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
2. ชุดการสอนที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ 89.39/90.11 สูงกว่าเกณฑ์ 80 / 80 ที่กำหนดไว้ โดยแต่ละชุดการสอน มีประสิทธิภาพเรียงตามลำดับดังนี้ 94.15/94.20, 90.44/89.57, 90.20/86.69และ 85.33/91.90
3. ค่าดัชนีประสิทธิผลของชุดการสอนการละเล่นพื้นบ้าน ร่วมกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก(Active learning) เรื่องทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีค่าเทากับ 0.73
4. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่ได้รับการสอนโดยใช้ชุดการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
คำสำคัญ : ชุดการสอนการละเล่นพื้นบ้าน, การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก(Active learning), ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน