ชื่อเรื่อง การพัฒนาครูในการจัดประสบการณ์โดยบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
โรงเรียนอนุบาลทับมา กองการศึกษา เทศบาลตำบลทับมา จังหวัดระยอง
ผู้วิจัย นายชนุดม บุญเจริญ
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะผู้อำนวยการสถานศึกษาชำนาญการ
โรงเรียนอนุบาลทับมา เทศบาลตำบลทับมา จังหวัดระยอง
ปีที่วิจัย 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง การพัฒนาครูในการจัดประสบการณ์โดยบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนอนุบาลทับมา กองการศึกษา เทศบาลตำบลทับมา จังหวัดระยอง วัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อพัฒนาครูโรงเรียนอนุบาลทับมา กองการศึกษา เทศบาลตำบลทับมา จังหวัดระยอง ให้มีความรู้ความ เข้าใจการจัดประสบการณ์และสามารถเขียนแผนการจัดประสบการณ์โดยบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ ตามกรอบเนื้อหา 4 ขั้นตอน คือ 1) วิเคราะห์หลักสูตรรายวิชา 2) กำหนดหน่วยการเรียนรู้ 3) จัดทำแผนการจัดประสบการณ์ และ 4) การนำแผนการจัดประสบการณ์ไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยใช้หลักการวิจัยปฏิบัติการ (Action Research Principle) ตามแนวคิดของ Kemmis และ McTaggart ดำเนินการ 2 วงรอบ แต่ละวงรอบ ประกอบด้วย การวางแผน (Planning) การปฏิบัติ (Action) การสังเกต (Observation) และ การสะท้อนผล (Reflection) กลุ่มผู้ร่วมวิจัย จำนวน 12 คน ประกอบ ด้วย ครูประจำชั้น ระดับปฐมวัย ปีที่ 1,2 และ3 ซึ่งสอนในโรงเรียนอนุบาลทับมา กองการศึกษา เทศบาลตำบลทับมา จังหวัดระยอง กลุ่มผู้ให้ข้อมูล จำนวน 47 คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน วิทยากร จำนวน 1 คน ศึกษานิเทศก์ จำนวน 1 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 30 คน ได้จากการ เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ห้องละ 10 คน กลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนาคือ การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบทดสอบ แบบสัมภาษณ์ แบบประเมิน แบบสังเกต และแบบสอบถาม การจัดกระทำข้อมูล และการตรวจสอบข้อมูลยึดหลักการตรวจสอบข้อมูล แบบ หลายมิติ (Triangulation) และนำเสนอผลการวิจัยโดยบรรยาย
ผลการวิจัยพบว่า
ผลการพัฒนาบุคลากรในวงรองที่ 1 โดยใช้กลยุทธ์ในการพัฒนา คือ การประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศภายใน ซึ่งผลจากการใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถเขียนแผนการจัดประสบการณ์โดยบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ จากการทดสอบกลุ่มผู้ร่วมวิจัยเพื่อวัดความรู้ความเข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและวัดความรู้ความเข้าใจในการเขียนแผนการจัดประสบการณ์โดยบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ผู้ร่วมวิจัยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการเขียนแผนการจัดประสบการณ์โดยบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเมื่อวิทยากรทำการประเมินการเขียนแผนการจัดประสบการณ์ ผลปรากฏว่า กลุ่มผู้ร่วมวิจัยทั้ง 14 คน สามารถเขียนแผนการจัดประสบการณ์โดยบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ โดยมีผลการประเมินแผนการจัดประสบการณ์มีความเหมาะสมในระดับมาก และการนิเทศภายในจากวิทยากร ศึกษานิเทศก์และผู้อำนวยการโรงเรียน ทำการนิเทศแผนการจัดประสบการณ์ โดยการประเมินแผนการจัดประสบการณ์และนิเทศการจัดประสบการณ์โดยสังเกตพฤติกรรมการแสดงออกขณะทำการจัดประสบการณ์ ประเมินการจัดประสบการณ์ เพื่อให้คำแนะนำช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา แก่กลุ่มผู้ร่วมวิจัยจนสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 5 ขั้นตอนได้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ คือ ในขั้นจัดกิจกรรมการเรียนรู้พบว่า ครูข้ามขั้นตอนกิจกรรมการสอนที่เชื่อมโยงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้ากับประสบการณ์การเรียนรู้ในและนอกห้องเรียนของผู้เรียน การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้ที่ไม่หลากหลาย และในขั้นประเมินผลการเรียนรู้ให้ครอบคลุมจุดประสงค์การเรียนรู้ พบว่า ครูขาดการวัดผลประเมินผลการเรียนที่ครอบคลุมทั้งด้านความรู้ ทักษะ กระบวนการ ผลงานและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของผู้เรียน ดังนั้น เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดในระหว่างการจัดประสบการณ์ รวมถึงการเสนอแนะแนวทางที่ปฏิบัติแล้วเกิดผลดี กลุ่มผู้ร่วมวิจัยจึงวางแผนการดำเนินการพัฒนาบุคลากรด้านการจัดประสบการณ์โดยบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของวงรอบที่ 2
ผลการพัฒนาบุคลากรในวงรอบที่ 2 โดยใช้กลยุทธ์ การนิเทศภายใน พบว่า กลุ่มผู้ร่วมวิจัยสามารถนำแผนการจัดประสบการณ์ไปจัดประสบการณ์ โดยบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางการจัดประสบการณ์ของกรมวิชาการ 5 ขั้นตอนได้ดี สามารถกำหนดขอบเขตเนื้อหาที่จะสอน และออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับเวลา ลักษณะของกิจกรรมเน้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้มากที่สุด มีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสอดแทรกในกิจกรรมการเรียนรู้ สามารถจัดประสบการณ์ โดยบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งกลุ่มผู้ร่วมวิจัยมีความมั่นใจในการจัดประสบการณ์ สามารถเชื่อมโยงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้ากับการจัดประสบการณ์ นักเรียนสามารถสรุปองค์ความรู้ที่ได้จากการจัดประสบการณ์ ให้เชื่อมโยงกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนที่ยึดครูเป็นศูนย์กลางมาเป็นการจัดประสบการณ์ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เน้นให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองได้ และสามารถประเมินผลการเรียนรู้ให้ครอบคลุมจุดประสงค์การเรียนรู้ตามที่กำหนด โดยครูมีการประเมินผลตามสภาพจริงของผู้เรียน ครูวัดและประเมินผลโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเชื่อมโยงกับทักษะความรู้ กระบวนการและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน และผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อการจัดประสบการณ์โดยบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับมาก