ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์เพื่อส่งเสริมความสามารถ ในการคิดขั้นสูง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ผู้วิจัย นางสาวพรสุดา โสภา ตำแหน่ง ครู โรงเรียนไพรธรรมคุณวิทยา อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดขั้นสูง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 2) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดขั้นสูง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 3) เพื่อขยายผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดขั้นสูงของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนไพรธรรมคุณวิทยา ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 33 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการขยายผลการวิจัย เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนกันทรอมวิทยาคม ที่เรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 31คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาคณิตศาสตร์ แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดขั้นสูงด้านการคิดวิเคราะห์และการคิดแก้ปัญหา ทางคณิตศาสตร์ แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทีแบบไม่อิสระและการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดขั้นสูง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีชื่อว่า “PPAPC Model” มีองค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอนและเงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ กระบวนการเรียนการสอน มี 5 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นเตรียมความพร้อมด้านความรู้และทักษะที่จำเป็น (Preparing Essential Knowledge and Skills: P) 2) ขั้นนำเสนอบทเรียน (Presentation of Learning Task: P) 3) ขั้นคิดวิเคราะห์ (Analyze Thinking : A) 4) ขั้นนำเสนอและอภิปรายผลการคิด (Presentation and Discussion: P) 5) ขั้นสรุปบทเรียน (Conclusion: C) โดยที่รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดขั้นสูง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (PPAPC Model) ที่พัฒนาขึ้นมานี้ มีประสิทธิภาพเท่ากับ 79.53/79.44 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้
2. หลังการจัดการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอน นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ความสามารถในการคิดขั้นสูงของนักเรียนที่เรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอน พัฒนาขึ้นในช่วงเวลาระหว่างเรียน
4. ความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอนโดยภาพรวมอยู่ในระดับ เห็นด้วยมากที่สุด
5. ผลการขยายผล พบว่า หลังการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอน นักเรียน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ความสามารถในการคิดขั้นสูงของนักเรียนที่เรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนพัฒนาขึ้นในช่วง เวลาระหว่างเรียน และความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอนโดยภาพรวม อยู่ในระดับเห็นด้วยมากที่สุด