ชื่อเรื่อง ผลการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา(STEM Education) ที่มีต่อ
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ เรื่อง สิ่งมีชีวิต ความสามารถในการแก้ปัญหา
และความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ผู้วิจัย นางสาวอรวรรณ ปราบสูงเนิน ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาลวัดท่าสะต๋อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
สำนักการศึกษา เทศบาลนครเชียงใหม่ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
กระทรวงมหาดไทย
ปีที่ศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัย เรื่อง ผลการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา (STEM Education) ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ เรื่อง สิ่งมีชีวิต ความสามารถในการแก้ปัญหาและ ความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย 1) เพื่อหาประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา เรื่อง สิ่งมีชีวิต ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียน 3) เพื่อศึกษาคะแนนพัฒนาการ (Gain score) ของนักเรียน 4) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการแก้ปัญหาก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียน และ 5) เพื่อศึกษาความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ของนักเรียนที่ได้รับการจัด การเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา ขอบเขตของการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/1 โรงเรียนเทศบาลวัดท่าสะต๋อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1 ห้อง นักเรียน 20 คน ระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินงานวิจัย คือ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 รวมระยะเวลา 6 สัปดาห์จำนวน 13 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา เรื่อง สิ่งมีชีวิต แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง สิ่งมีชีวิต แบบวัดความสามารถในการแก้ปัญหา และแบบวัดความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด สะเต็มศึกษา ผู้วิจัยเก็บรวบรวมด้วยตนเอง และวิเคราะห์ข้อมูล โดยหาค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบที (t-test dependent group) และค่าคะแนนพัฒนาการ (Gain Score)
สรุปผลการวิจัย
1. แผนการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา (STEM Education) เรื่อง สิ่งมีชีวิต ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 83.07/82.33 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 80/80
2. นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา (STEM Education) เรื่อง สิ่งมีชีวิต มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง สิ่งมีชีวิต หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา (STEM Education) มีคะแนนพัฒนาการร้อยละ 55.00 อยู่ในระดับสูง ร้อยละ 25.00 อยู่ในระดับสูงมาก และร้อยละ 20.00 อยู่ในระดับกลาง
4. นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา (STEM Education) เรื่อง สิ่งมีชีวิต มีความสามารถในการแก้ปัญหาหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
5. ความพึงพอใจของนักเรียนจากการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา(STEM Education) เรื่อง สิ่งมีชีวิต ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยรวมมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 4.42 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.18 ซึ่งอยู่ในระดับความพึงพอใจมาก