ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการอ่าน
อย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ชื่อผู้วิจัย นางอรทัย คงวิทยา ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาลอินทปัญญา วัดใหญ่อินทาราม สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลเมืองชลบุรี
อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
ปีที่ศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนภาษาไทยเพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 2) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการสอนภาษาไทยเพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/2 โรงเรียนเทศบาลอินทปัญญา วัดใหญ่อินทาราม สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลเมืองชลบุรี อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 40 คน โดยได้มาจากการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้ โดยใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ SQ5RA 2) แบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 รูปแบบการศึกษาแบบ One Group Pretest Posttest Design
การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าสถิติ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า t-test แบบ Dependent
ผลการวิจัย พบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนภาษาไทยเพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมปีที่ 5 มีองค์ประกอบ 6 ด้านดังนี้
1.1 การจำแนกข้อเท็จจริงจากข้อคิดเห็น หมายถึง การทราบว่าข้อมูลใดผิดพลาดจากข้อเท็จจริง ข้อมูลใดสรุปไม่ถูกต้องและข้อความใดที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริง
1.2 การตีความการบอกโครงเรื่องหรือสรุปใจความจากเรื่องที่อ่าน (Interpretative Comprehension) หมายถึง ความสามารถในการค้นคว้าหาความหมายแฝงที่ผู้เขียนมิได้กล่าวไว้ชัดเจนในข้อความที่อ่าน ได้แก่ การเข้าใจสำนวนภาษา การขยายความ การคาดคะเนและทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้า การเข้าใจ อารมณ์ ความรู้สึก และเข้าใจความนามธรรม การเข้าใจความสัมพันธ์ของเหตุและผล การสรุปความเห็น และการสรุปอ้างอิง
1.3 การตระหนักถึงทัศนะและจุดมุ่งหมายของผู้เขียน หมายถึง การทราบถึงอคติพื้นฐาน ประสบการณ์ ความคิดเห็นของผู้เขียน ตลอดจนความเชื่อถือได้ และจุดมุ่งหมายในการแสดงความคิดเห็นนั้นๆออกมา
1.4 การวิเคราะห์เรื่องที่อ่าน หมายถึง ความสามารถด้านการอ่านแยกเนื้อหาให้เป็นส่วนย่อย เพื่อค้นหาองค์ประกอบ โครงสร้าง หรือความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อยนั้น ซึ่งนักเรียนจะสามารถวิเคราะห์ได้ก็ต่อเมื่อเข้าใจเนื้อหาสาระที่เรียนมาแล้ว
1.5 การตัดสินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล หมายถึง การสำรวจ ประเมิน และรวบรวมความคิดเห็นของผู้เขียนจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบและวิเคราะห์ว่าเรื่องใดเป็นข้อเท็จจริงและเรื่องใดเป็นการแสดงความคิดเห็น
1.6 การประเมินค่าของเรื่องที่อ่าน หมายถึง ความสามารถด้านการอ่านเพื่อตัดสินเกี่ยวกับความจริง-ความเท็จ ความจริง-ความเพ้อฝัน ตลอดจนความเหมาะสม และความเที่ยงตรง โดยใช้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง เข้าใจเรื่องที่อ่านโดยผู้อ่านสามารถตัดสินสิ่งที่อ่านได้ด้วยเกณฑ์ของตนเอง มีการตัดสินที่มีความถูกต้องและยอมรับได้
2. เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอนภาษาไทยเพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ประกอบด้วย
2.1 ประสิทธิภาพรูปแบบการเรียนการสอนภาษาไทยเพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (E1/E2) เท่ากับ 82.58 /80.63 ดังนั้นรูปแบบการเรียนการสอนภาษาไทยเพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ด้วยกระบวนการ SQ5RA มีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.58 /80.63 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
2.2 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีคะแนนความสามารถในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05