ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์แบบ E-REE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ผู้รายงาน นางวัฒนาพร รังคะราช
หน่วยงาน โรงเรียนเนินยางประชาสามัคคี อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์
ปีที่ศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์แบบ E-REE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพ 2) ศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการเรียน การสอนคณิตศาสตร์แบบ E-REE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 37 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์แบบ E-REE Model แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย (x̄) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที (Independent t-test ) และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์แบบ E-REE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีองค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอนและเงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ กระบวนการเรียนการสอนมี 4 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นที่ 1 ขั้นการกระตุ้นเตรียมความพร้อม (Encouragement : E) ประกอบด้วยการตรวจสอบความรู้เดิม (Reviewing Knowledge) และเสริมความรู้พื้นฐาน (Providing Fundamental Knowledge) 2) ขั้นที่ 2 ขั้นไตร่ตรอง (Reflective: R) ประกอบด้วยขั้นการเผชิญสถานการณ์ปัญหาและพัฒนาความคิด (Facing a problem situation and Thinking Development) ขั้นการสาธิตและอภิปรายวิธีแก้ปัญหา (Demonstration and Sharing) และขั้นการเสนอความคิดกลุ่มใหญ่และเปิดใจร่วมกัน (Presentation and Open mind together) 3) ขั้นที่ 3 ขั้นอธิบายสรุปและฝึกทักษะ (Explanation and Practice : E) และ 4) ขั้นที่ 4 ขั้นประเมินค่าความรู้ความเข้าใจ (Enumeration: E) โดยที่รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์แบบ E-REE Model เพื่อพัฒนาขึ้นนี้มีประสิทธิภาพเท่ากับ 77.82/77.21 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 75/75 ที่กำหนดไว้
2. หลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนรู้คณิตศาสตร์ แบบ E-REE Model นักเรียนมีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01
3. ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนที่เรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์แบบ E-REE Model พัฒนาขึ้นในช่วงเวลาระหว่างเรียน
4. หลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์แบบ E-REE Model นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01
5. ความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์แบบ E-REE Model โดยภาพรวมอยู่ในระดับเห็นด้วยมากที่สุด