การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น(ป่าพรุโต๊ะแดง) เพื่อเสริมสร้างทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 2) พัฒนาและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น(ป่าพรุโต๊ะแดง) ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์80/80 3)ทดลองใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น(ป่าพรุโต๊ะแดง) 4)ประเมินและปรับปรุงชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น(ป่าพรุโต๊ะแดง)
ประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาล ๑
(ราษฎรบำรุง) สำนักการศึกษา เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 3 ห้อง ได้แก่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 จำนวน 30 คน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/2 จำนวน 30 คน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/3 จำนวน 30 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 90 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 จำนวน 30 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย ชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น(ป่าพรุโต๊ะแดง) กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 8 ชุด แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 10 แผน แบบทดสอบความรู้พื้นฐานก่อนและหลังการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ จำนวน 40 ข้อ แบบสังเกตทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แบบประเมิน
จิตวิทยาศาสตร์ และแบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าสถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าประสิทธิภาพและวิเคราะห์ความแตกต่าง โดยใช้ t-test (Dependent Samples) ผลการวิจัยพบว่า
1. ข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ได้จากผู้เชี่ยวชาญ ครู และนักเรียน พบว่า ควรให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติและค้นหาความรู้ด้วยตนเอง มีการทำงานเป็นกระบวนการกลุ่ม และสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
2. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นประกอบด้วย 1) ชื่อกิจกรรม 2) คำนำ 3) คำชี้แจงสำหรับครู 4) คำชี้แจงสำหรับนักเรียน 5) สาระสำคัญ/จุดประสงค์ 6) ใบความรู้/ใบกิจกรรม 7) แบบทดสอบ 8) แผนการจัดการเรียนรู้ และมีประสิทธิภาพ 83.08/85.13 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่กำหนดไว้
3. ผลการทดลองใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ พบว่า ผู้เรียนมีความสนใจต่อชุดกิจกรรม กระตือรือร้นต่อการเรียนและการปฏิบัติกิจกรรมกลุ่ม
4. ผลการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ พบว่า หลังการเรียนรู้ มีคะแนนเฉลี่ย สูงกว่าก่อนการเรียนรู้ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ผู้เรียนมีทักษะกระบวนการกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับสูง มีจิตวิทยาศาสตร์หลังเรียนอยู่ในระดับดีมาก และมีความคิดเห็นต่อชุดกิจกรรมการเรียนรู้โดยภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก