บทคัดย่อ
การดำเนินงานสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติด และอบายมุข โดยใช้ PL Model
*นายสุรเชษฐ รูปต่ำ ผู้อำนวยการโรงเรียน โรงเรียนศรีกระนวนวิทยาคม สพม. 25
การพัฒนานวัตกรรม PL Model มีวัตถุประสงค์เพื่อนำนวัตกรรมไปใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติด และอบายมุข ของโรงเรียนพล เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตของนักเรียนอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้โรงเรียน ผู้ปกครอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือชุมชน มีการทำงานร่วมกันโดยผ่านกระบวนการทำงานที่ชัดเจน พร้อมด้วยเอกสาร หลักฐานการปฏิบัติงาน สามารถตรวจสอบหรือรับการประเมินได้ โดยดำเนินการแต่ละขั้นตอน อย่างเป็นระบบภายใต้วงจรควบคุมคุณภาพเดมมิ่ง (PDCA)
ผลการดำเนินงานพบว่า การพัฒนารูปแบบการบริหารแบบ PL Model สู่สถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติด และอบายมุขแบบยั่งยืนของโรงเรียนพล สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 25 มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1. ป้องกัน และลดการแพร่ระบาดของยาเสพติดและอบายมุข ทั้งในและนอกสถานศึกษา 2. สนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดและอบายมุขของสถานศึกษาให้มีกระบวนการที่เข้มแข็ง ต่อเนื่อง และยั่งยืน 3. โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้นำไปพัฒนาและสร้างระบบการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด อบายมุข และปัจจัยเสี่ยงรอบสถานศึกษา โดยเป้าหมายของการดำเนินงาน ประกอบด้วย นักเรียนทุกห้องเรียนจำนวน 31 ห้องเรียน จากการดำเนินงานภายใต้รูปแบบการบริหารแบบ PL Model สู่สถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติด และอบายมุขแบบยั่งยืน ก่อประโยชน์ต่อนักเรียน ชุมชน ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง มีจิตสำนึกร่วมกันในการดูแลกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเสพ กลุ่มติด และกลุ่มค้า พร้อมกับเฝ้าระวังไม่ให้มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดและอบายมุขในสถานศึกษา สามารถบรรลุวิสัยทัศน์ เป้าหมาย พันธกิจ กลยุทธ์ มีผลงานที่ประสบความสำเร็จเชิงประจักษ์ทั้ง 3 โครงการ ซึ่งประกอบไปด้วย โครงการป้องกันยาเสพติด โครงการโรงเรียนปลอดบุหรี่และโครงการห้องเรียนสีขาว ส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรม มีจิตอาสา รู้จักเสียสละ ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและอบายมุข และดำรงตนอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
คำสำคัญ: สถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติด และอบายมุข, PL Model
บทนำ
สภาพสังคมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งด้านการสื่อสารเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อผู้คนในเชิงบวกแล้ว ยังมีปรากฏการณ์ในเชิงลบเช่นเดียวกัน เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด ปัญหาครอบครัวที่ทำให้เกิดความทุกข์ ความวิตกกังวล ความเครียด รวมถึงการปรับตัวที่ไม่เหมาะสมของเยาชนในปัจจุบัน และรวมไปถึงปัญหาที่เกิดในโรงเรียน คือ นักเรียนมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น หนีเรียน ขาดเรียน สูบบุหรี่ พฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่ทำให้นักเรียนมีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับสารเสพติดซึ่งแพร่ระบาดในชุมชน และนับวันยิ่งรุนแรงขึ้นทุกขณะ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งต่อพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาของเยาวชน ดังนั้นการที่จะแก้ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ได้ จำเป็นต้องพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียน โดยให้นักเรียนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และไม่ก่อปัญหาเพิ่มให้แก่สังคม
โรงเรียนพลประสพปัญหาในเรื่องบุหรี่ สุรา และของมึนเมาเพิ่มมากขึ้น และสุรายังเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเสพยาเสพติดอื่น ๆอีกด้วย นอกจากนั้นแล้วผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่บุตรหลาน ร้านค้าต่าง ๆในชุมชนมีการจำหน่ายบุหรี่ สุรา และของมึนเมาให้กับเยาวชน ทำให้โรงเรียนต้องจัดหาวิธีการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน
โรงเรียนพล นำโดยผู้บริหารโรงเรียนในฐานะผู้นำทีม ได้ศึกษาและนำนโยบายของรัฐบาล นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายของจังหวัดขอนแก่น รวมทั้งนโยบายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 25 ได้ทำการพัฒนา PL Model ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำโตรงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติด และอบายมุขเพื่อใช้ในการดำเนินงานแก้ปัญหาและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีพฤติกรรมอันพึงประสงค์ มีทักษะชีวิต และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติต่อไป
วัตถุประสงค์
1) เพื่อนำนวัตกรรม PL Model ไปใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติด และอบายมุขของโรงเรียนพล เพื่อป้องกันและลดปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดทั้งในและนอกสถานศึกษาให้เข้มแข็ง ต่อเนื่องเป็นระบบ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
2) เพื่อให้โรงเรียน ผู้ปกครอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือชุมชน มีการทำงานร่วมกันโดยผ่านกระบวนการทำงานที่ชัดเจน พร้อมด้วยเอกสาร หลักฐานการปฏิบัติงาน สามารถตรวจสอบหรือรับการประเมินได้
วิธีการดำเนินงาน
โรงเรียนพล ดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนของPL Model อย่างเป็นระบบภายใต้วงจรควบคุมคุณภาพเดมมิ่ง (PDCA) ดังนี้
3.1 ขั้นการวางแผน (Plan) โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการปฏิบัติงานในปีที่ผ่านมา ร่วมกับการนำความคิดเห็นและข้อมูลจากเครือข่ายผู้ปกครองและองค์กรภายนอกที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อสังเคราะห์รูปแบบนวัตกรรม โดยโรงเรียนมุ่งเน้นการบริหารแบบมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เครือข่ายผู้ปกครอง สมาคมศิษย์เก่า สมาคมผู้ปกครอง และ เครือข่ายผู้นำนักเรียนและชุมชน โดยมีการจัดประชุมเสวนาผู้นำชุมชนและเครือข่ายผู้ปกครอง เพื่อร่วมกันกำหนดและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
โรงเรียนมีการวางระบบและแผนการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยมีคณะกรรมการดำเนินงานที่ใช้ระบบ PLC ได้ร่วมคิดร่วมทำและร่วมพัฒนา มีการนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อปรับปรุงพัฒนานวัตกรรม
3.2 ขั้นการปฏิบัติ (Do) เป็นการกำหนดรูปแบบแนวทางการบริหาร ได้แก่ วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย คุณลักษณะอันพึงประสงค์ กำหนดเกณฑ์ความคาดหวังและผลจากการดำเนินงาน ด้วยการดำเนินงานอย่างเป็นระบบโดยมุ่งเน้นความเป็นผู้นำ ความรับผิดชอบ การมีส่วนร่วมของผู้เรียนเป็นสำคัญ บูรณาการแบบองค์รวมด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย มีการสื่อสาร รณรงค์ ประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงตามยุทธศาสตร์ 5 มาตรการ กลยุทธ์ 4 ต้อง 2 ไม่ ภายใต้กรอบของ PL Model โดยมีการดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้คือ การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การคัดกรองนักเรียน การส่งเสริมและพัฒนานักเรียนทุกกลุ่ม การจัดกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียน และการส่งต่อ
3.3 ขั้นการตรวจสอบ (Check) เป็นการตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานโดยการนิเทศติดตาม การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยติดตามความก้าวหน้าทุกสัปดาห์และเดือน เพื่อช่วยพัฒนาแก้ไขปรับปรุงโดยให้ความสำคัญที่กระบวนการนิเทศภายใน การรายงานผลและประเมินผลเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ การพัฒนาและปรับปรุง
3.4 ขั้นการดำเนินงานให้เหมาะสม (Action) โดยมีการสรุปสะท้อนผลการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงและพัฒนาในการดำเนินงานต่อไป
จากกระบวนการดำเนินงาน PL Modelสามารถสรุปได้ดังภาพที่ 1 ดังนี้
PL Model ประกอบด้วย
P (Participation) การมีส่วนร่วมของบุคคลในองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบต่อองค์กร
L (Leadership and Network) การมีภาวะผู้นำทำงานเชื่อมโยงกับเครือข่าย ผู้ มีส่วนได้ ส่วนเสีย ได้ แก่คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สมาคมครู ผู้ปกครอง และศิษย์เก่า เครือข่ายผู้ปกครอง ชุมชน ส่วนราชการภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งนักเรียน เดินทางสู่เป้าหมาย
ผลการดำเนินงาน
จากการที่โรงเรียนนำนวัตกรรม PL Model มาใช้ดำเนินงาน ทำให้นักเรียนได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึงและตรงตามสภาพปัญหา ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็ก ครอบครัว และสังคม สัมพันธภาพระหว่าง ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นไปด้วยดีและอบอุ่นทำให้สามารถพัฒนานักเรียนอย่างเต็มศักยภาพ สร้างคนดีมีคุณภาพช่วยพัฒนาชุมชนสังคมให้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นสังคมแห่งความสุขตลอดไป โรงเรียนประสบความสำเร็จด้านการศึกษา มีหลักสูตรที่หลากหลาย ผู้เรียนทุกคนมีคุณภาพมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น มีทักษะในด้านกีฬา ดนตรี ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษา เป็นคนดีมีความรู้และมีศักยภาพเป็นพลโลก ดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และอยู่ในสังคมโลกอย่างมีความสุข ครูและบุคลากรทางการศึกษาปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ก้าวสู่ประชาคมอาเซียนตามมาตรฐานวิชาชีพสากลและเป็นแบบอย่าง ส่งผลให้ได้รับรางวัลสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติด และอบายมุขซึ่งดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ดีเด่น ประจำปี 2558 2559 2560 ในระดับเงิน ระดับทอง และระดับเพชร ของ ป.ป.ส. ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด กระทรวงศึกษาธิการ
อุปสรรคและปัญหา
การสร้างความตระหนักให้กับนักเรียนที่มีปัญหาครอบครัว ปัญหาความยากจน มีภาระต้องดูแลช่วยเหลือคนในครอบครัว ปรับตัวเข้ากับสังคมในโรงเรียนไม่ได้ ไม่ชอบวิธีการสอนของครูขาดการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครอง และปัญหาอื่นๆ ทั้งที่เกิดจากผู้ปกครองที่ไม่มีความพร้อม โรงเรียนที่ไม่ได้ดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ตัวนักเรียนเองที่ขาดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์
ข้อเสนอแนะ
1. นำผลการประเมินโครงการมาวิเคราะห์หาจุดเด่น จุดด้อย รวมทั้งความสำเร็จและอุปสรรค เทียบเคียงเพื่อปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานโครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติด และอบายมุขให้ก้าวหน้าต่อไป
2. ผู้รับผิดชอบ ควรนำรูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการไปประยุกต์ใช้ โดยปรับให้เหมาะสมกับสภาพบริบทของโรงเรียน เพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนักเรียนในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
3. ควรนำผลการประเมินไปใช้เป็นข้อมูล เพื่อการวางแผนพัฒนาผู้เรียนให้เชื่อมโยงกับการพัฒนางานฝ่ายต่าง ๆ ของโรงเรียน เพื่อประสิทธิภาพกับ การบริหารจัดการต่อไป
4. สร้างความเข้าใจกันดีในบรรยากาศที่เป็นมิตรระหว่างครูกับนักเรียนและผู้ปกครองส่งผลให้เกิดความผูกพัน ความร่วมมือ และเกิดประสิทธิภาพกับการดำเนินงานตามโครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติด และอบายมุข
5. ควรจัดกิจกรรมที่เน้นการประสานงานกับผู้ปกครองและชุมชนให้มากขึ้นอย่างมีระบบเพื่อดูแลนักเรียนให้ปลอดจากยาเสพติด โรคเอดส์ การตั้งครรภ์ อบายมุขที่เป็นสิ่งมัวเมาทั้งหลาย และปัญหาอุบัติภัยอย่างต่อเนื่อง
บทสรุป
การแก้ปัญหายาเสพติดและอบายมุขต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนต้องมีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อร่วมกันดูแลสอดส่องปกป้องคุ้มครองนักเรียนรวมทั้งให้การสนับสนุนนักเรียนในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ด้านต่างๆ อย่างเต็มที่มุ่งเน้นผลประโยชน์ที่เกิดแก่ผู้เรียนเป็นสำคัญยึดหลักวิธีการแห่งศาสตร์พระราชาคือเข้าใจเข้าถึงพัฒนาและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักเรียนทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้นักเรียนรู้จักตนและควบคุมตนเองได้ สามารถพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ และเรียนรู้อย่างมีความสุข นอกจากนั้นแล้วสัมพันธภาพระหว่าง ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษาก็เป็นไปด้วยดีและอบอุ่น ทำให้สามารถพัฒนานักเรียนอย่างเต็มศักยภาพ สร้างคนดีมีคุณภาพช่วยพัฒนาชุมชนสังคมให้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นสังคมแห่งความสุขตลอดไป
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงศึกษาธิการ. (2552). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์คุรุสภา.
กระทรวงศึกษาธิการ. (2561). คู่มือแนวทางการดำเนินงานโครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข พ.ศ. 2561. กรุงเทพ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2556). วิสัยทัศน์การพัฒนาการศึกษา. กรุงเทพฯ.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2559). เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน OBECQA ปี 2559-2560. กรุงเทพฯ.โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2560). ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ ๒๐ปี (พ.ศ. 2560-2579).
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.๒๕๖๐. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ.2560 2564). สภานิติบัญญัติแห่งชาติ. ๒๕๕๗.ราชกิจจานุเบกษา.
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 25. (2560). นโยบายพัฒนาคุณภาพการศึกษา เสี่ยวโมเดล (SIAO MODEL): ขอนแก่นการพิมพ์.