ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิชาภูมิศาสตร์กายภาพ เพื่อเสริมสร้าง ความสามารถด้านอภิปัญญาและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ชื่อผู้วิจัย นางศศินันท์ ไชยพิมพ์ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาล ๓ ยุติธรรมวิทยา สังกัดสำนักการศึกษา
เทศบาลนครสกลนคร จังหวัดสกลนคร
ปีที่ศึกษา ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Researchand Development)
มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิชาภูมิศาสตร์กายภาพ เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านอภิปัญญาและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิชาภูมิศาสตร์กายภาพ เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านอภิปัญญาและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนวิชาภูมิศาสตร์กายภาพ
เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านอภิปัญญาและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 4) เพื่อประเมินผลของรูปแบบการเรียน
การสอนวิชาภูมิศาสตร์กายภาพ เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านอภิปัญญาและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 32 คนโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster random Sampling) เครื่องมือในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย 1) รูปแบบการเรียนการสอนวิชาภูมิศาสตร์กายภาพ เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านอภิปัญญาและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 2) คู่มือการใช้รูปแบบการเรียนการสอน 3) แผนการจัดการเรียนรู้ 4) แบบวัดความสามารถด้านอภิปัญญา 5) แบบทดสอบวัดการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
6) แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 7) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน
ที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น สถิติที่ใช้ได้แก่ การหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยโดยใช้การทดสอบค่าทีแบบไม่อิสระต่อกัน (t-test ชนิด Dependent Samples)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิชาภูมิศาสตร์กายภาพ เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านอภิปัญญาและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 พบว่า ครู นักเรียนและผู้ปกครองมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันต้องการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ สรุปองค์ความรู้ด้วยตนเอง มีส่วนร่วมในการปฏิบัติกิจรรม สามารถนำความรู้ที่ได้รับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
2. ผลการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิชาภูมิศาสตร์กายภาพ เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านอภิปัญญาและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 พบว่า รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีองค์ประกอบดังนี้ 1) หลักการ 2) จุดมุ่งหมาย 3) กระบวนการเรียนรู้ มี 6 ขั้นตอน คือ (1) ขั้นเตรียมความพร้อมค้นพบปัญหา (2) ขั้นแสวงหาความรู้ค้นหาความคิด (3) ขั้นกระบวนการพัฒนาทักษะ เลือกกลวิธีในการแก้ปัญหา (4) ขั้นตรวจสอบและทบทวนการแก้ปัญหา (5) ขั้นส่งเสริมทักษะ นำความรู้เชื่อมโยงปัญหาใหม่ และ 6) ขั้นนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ ผลการตรวจสอบคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญ ในภาพรวมได้ค่าความเหมาะสม/สอดคล้อง
มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.70 ซึ่งแสดงว่ารูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีความเหมาะสม/สอดคล้องเชิงโครงสร้าง สามารถนำไปทดลองใช้ได้และผลการหาประสิทธิภาพ (E1 / E2) โดยการทดลองภาคสนาม (Field Tryout) ได้ค่าประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอนเท่ากับ 80.58/80.16
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนวิชาภูมิศาสตร์กายภาพ
เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านอภิปัญญาและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับ
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 พบว่า นักเรียนใช้กระบวนการทางปัญญาในแก้ รู้ว่าตนรู้อะไร และยังไม่รู้อะไร มีการวางแผนตรวจสอบความเข้าใจของตนเองอย่างเป็นระบบ สามารถควบคุมกำกับการคิดปรับการกระทำของตนเอง ประเมินการคิดของตนเองอันจะนำไปสู่การบรรลุจุดมุ่งหมายได้ และยังรู้จักสังเกตความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมแล้วเกิดความรู้ความเข้าใจตามประสบการณ์ของตนเอง เชื่อมโยงกันอย่างมีความหมายโดยผ่านกิจกรรมการไตร่ตรอง นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์หลากหลายวิธี ได้ค่าประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอนจากการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างได้ค่าประสิทธิภาพ (E1 / E2) ของรูปแบบการเรียนการสอนเท่ากับ 82.64/82.19
4. ผลการประเมินผลของรูปแบบการเรียนการสอนวิชาภูมิศาสตร์กายภาพ
เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านอภิปัญญาและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับ
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีผลดังนี้
4.1 นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น
มีความสามารถด้านอภิปัญญาหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่ระดับ .01
4.2 นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น มีความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4.3 นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น มีผลสัมฤทธิ์
ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4.4 นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอน
วิชาภูมิศาสตร์กายภาพ เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านอภิปัญญาและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 อยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.59)