งานวิจัยเรื่อง : ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษา และประสิทธิผลของโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเลย
ผู้วิจัย : นายบุณญาศักย์ คูณเมือง
ตำแหน่ง : ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 3 ศรีสว่าง สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองเลย จังหวัดเลย
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เน้นการศึกษาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ ผู้บริหารสถานศึกษากับประสิทธิผลของโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดเลย โดยมีวัตถุประสงค์ในการวิจัย คือ 1) เพื่อศึกษาระดับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษา 2) เพื่อศึกษาระดับประสิทธิผลของโรงเรียน 3) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษา กับประสิทธิผลของโรงเรียน สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเลย กลุ่มประชากรในการวิจัยคือ ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนจากโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเลยทั้งหมด 23 โรงเรียน ใช้กลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 115 คน แยกเป็นกลุ่มผู้บริหารโรงเรียนจำนวน 23 คน และกลุ่มครูผู้สอนจำนวน 92 คนโดยใช้วิธีเลือกแบบเจาะจงและกำหนดคุณสมบัติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสอบถามที่มีลักษณะเป็นแบบตรวจสอบรายการ และแบบมาตราส่วนประมาณค่า 2 ตอน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการวิจัย ปรากฏดังนี้
1 ระดับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษา โดยภาพรวมและรายด้าน อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าอยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ การตั้งความหวังในผลงานไว้สูง รองลงมาคือ การระบุวิสัยทัศน์อย่างชัดเจน ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ การกระตุ้นการใช้ปัญญา
2 ระดับประสิทธิผลของโรงเรียน สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเลย ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยด้านที่มีประสิทธิผลสูงสุดคือ ความพึงพอใจของครู ผู้ปกครองและชุมชนต่อผลงานของโรงเรียน รองลงมาคือ ความสามารถในการแก้ปัญหาในโรงเรียน และด้านที่มีประสิทธิผลต่ำสุดคือ ความสามารถในการผลิตนักเรียนให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง
3. ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษา มีความสัมพันธ์ทางบวกกับประสิทธิผลของโรงเรียน โดยภาพรวม อยู่ในระดับค่อนข้างสูง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เรียงจากมากไปหาน้อย คือ ด้านความสามารถในการผลิตนักเรียนให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง รองลงมาคือ ความสามารถในการแก้ปัญหาภายในโรงเรียน ด้านความพึงพอใจของคณะครู ผู้ปกครอง และชุมชนต่อผลงานของโรงเรียน ด้านความสามารถในการพัฒนานักเรียนให้มีเจตคติทางบวก และด้านความสามารถในการปรับเปลี่ยนและพัฒนาโรงเรียนตามลำดับ ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้