งานวิจัยเรื่อง : การพัฒนารูปแบบการบริหารที่มีประสิทธิผล ของโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเลย
ผู้วิจัย : นายบุณญาศักย์ คูณเมือง
ตำแหน่ง : ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 3 ศรีสว่าง สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองเลย จังหวัดเลย
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์อยู่ สามประการประกอบด้วย 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาของการบริหารโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเลย 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารที่มีประสิทธิผลของโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเลย และ 3) เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบการบริหารที่มีประสิทธิผล ของโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดเลย โดยใช้รูปแบบการวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีขั้นตอนการวิจัยที่แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาที่พบในการบริหารโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดเลย ระยะที่ 2 สร้างรูปแบบการบริหารที่มีประสิทธิผล ระยะที่ 3 ทดลองใช้รูปแบบการบริหาร ที่มีประสิทธิผล และระยะที่ 4 ประเมินผลการใช้รูปแบบการบริหารที่มีประสิทธิผล กลุ่มตัวอย่างในการเก็บข้อมูล ประกอบด้วย ผู้บริหาร และครูในโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเลย จำนวน 23 โรง ทำการสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงเรียนโดยการเก็บข้อมูลเชิงลึกจำนวน. 13 คน สร้างรูปแบบ การบริหารที่มีประสิทธิผล โดยใช้ผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบรูปแบบจำนวน 10 คน หลังจากนั้นนำรูปแบบที่ผ่านการตรวจสอบแล้วไปทดลองใช้กับโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองวังสะพุงจำนวน 1 โรง ทำการประเมินผลรูปแบบการบริหารโดยใช้ ผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองรวมทั้งสิ้น 70 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม แบบบันทึก แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต และแบบประเมิน การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติร้อยละ ค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาของการบริหารโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเลย พบว่า
1) ด้านปัจจัยการบริหาร มีภาพรวมการปฏิบัติในระดับปานกลาง เรียงจากมากไปหาน้อยคือ ด้านองค์กรแห่งการเรียนรู้ ด้านภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียน ด้านการประกันคุณภาพภายใน ด้านลักษณะองค์การ และด้านเครือข่ายการมีส่วนร่วมตามลำดับ มีปัญหา เรียงจากมากไปหาน้อยคือ ด้านภาวะผู้นำของผู้บริหาร ด้านเครือข่ายการมีส่วนร่วม ด้านลักษณะองค์การ ด้านการประกันคุณภาพภายใน และด้านองค์กรแห่งการเรียนรู้ตามลำดับ
2 ด้านหลักการบริหาร มีภาพรวมการปฏิบัติในระดับปานกลางเรียงจากมากไปหาน้อยคือ หลักการกระจายอำนาจ หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความโปร่งใส มีปัญหา เรียงจากมากไปหาน้อยคือ หลักความโปร่งใส หลักความรับผิดชอบ หลักการมีส่วนร่วม และหลักการกระจายอำนาจ
3) ด้านการบริหารตามภารกิจของโรงเรียน มีภาพรวมการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง เรียงจากมากไปหาน้อยคือ การบริหารงานวิชาการ การบริหารทั่วไป การบริหารงบประมาณ และการบริหารงานบุคคล สภาพปัญหา เรียงจากมากไปหาน้อยคือ การบริหารงานบุคคล การบริหารทั่วไป การบริหารวิชาการ และการบริหารงบประมาณ
4) ด้านกระบวนการบริหาร มีภาพรวมการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง เรียงจากมากไปหาน้อยคือ การวางแผน การปฏิบัติ การปรับปรุงพัฒนา และการตรวจสอบประเมินผล มีปัญหา เรียงจากมากไปหาน้อยคือ การตรวจสอบประเมินผล การปรับปรุงพัฒนา การปฏิบัติ และการวางแผน
5) ด้านประสิทธิผลการบริหาร มีภาพรวมการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง เรียงจากมาก ไปหาน้อยคือ ผู้เรียนมีความสุข เป็นคนดี มีอาชีพ และเป็นคนเก่ง มีปัญหา เรียงจากมากไปหาน้อยคือ ผู้เรียนเป็นคนเก่ง มีอาชีพ เป็นคนดี และมีความสุข
2. ผลการพัฒนารูปแบบการบริหารที่มีประสิทธิผลของโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเลย พบว่า มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 5 องค์ประกอบ ซึ่งแต่ละองค์ประกอบจะมีตัวชี้วัดประสิทธิผล ดังนี้
1) องค์ประกอบด้านหลักการบริหาร ประกอบด้วย หลักการกระจายอำนาจ หลักการ มีส่วนร่วม หลักความโปร่งใส และหลักความรับผิดชอบ
2) องค์ประกอบด้านปัจจัยการบริหาร ประกอบด้วย ด้านภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียน ด้านลักษณะองค์การ ด้านการประกันคุณภาพภายใน และด้านเครือข่ายการมีส่วนร่วม
3) องค์ประกอบด้านการบริหารตามภารกิจของโรงเรียน ประกอบด้วย การบริหารงานวิชาการ การบริหารงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป
4) องค์ประกอบด้านกระบวนการบริหาร ประกอบด้วย การวางแผน การปฏิบัติ การตรวจสอบประเมินผล และการปรับปรุงพัฒนา
5) องค์ประกอบด้านประสิทธิผลการบริหาร ประกอบด้วย ด้านคุณภาพผู้เรียน (ผู้เรียนเป็นคนดี มีอาชีพ เป็นคนเก่ง และมีความสุข) ด้านคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (ครูและบุคลากร มีความเป็นมืออาชีพ มีขวัญกำลังใจ มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ และสามัคคีในหมู่คณะ) ด้านคุณภาพโรงเรียน (น่าดู น่าอยู่ น่าเรียน และน่าเชื่อถือ)
3. ผลการประเมินการใช้รูปแบบการบริหารที่มีประสิทธิผล ของโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเลย พบว่า
1) ผู้บริหาร ครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองนักเรียน ทุกระดับชั้น มีความพึงพอใจหลังการใช้รูปแบบการบริหารที่มีประสิทธิผล โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก
2) ผลการประชุมวิพากษ์รูปแบบการบริหารที่มีประสิทธิผล โดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 10 คน ได้ข้อสรุปให้เพิ่มจำนวนตัวชี้วัดความสำเร็จจากเดิม 51 ตัวชี้วัด เป็น 87 ตัวชี้วัด โดยเพิ่มจากเดิม 36 ตัวชี้วัด