เรื่อง : การพัฒนารูปแบบการเรียนแบบโครงงาน เพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21
วิชาเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ผู้วิจัย : ประทุม ช่วยขำ
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ สาระที่ 3 เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี 2) เพื่อร่างรูปแบบการเรียนแบบโครงงาน เพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการเรียนแบบโครงงาน เพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 4) เพื่อประเมินผลและปรับปรุงรูปแบบการเรียนแบบโครงงาน เพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/2 จำนวน 33 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ได้จากการสุ่ม อย่างง่าย (Simple Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบประเมินความสามารถในทำโครงงาน แบบสอบถามความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติ t test (dependent)
ผลการวิจัยพบว่า
1) การศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการพบว่าควรพัฒนานักเรียนให้มีความรู้และทักษะในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ ส่งเสริมการจัดสภาพการณ์ของการเรียนรู้ โดยให้นักเรียนได้ร่วมมือกันทำการศึกษา ค้นคว้า หาข้อมูล แล้วนำข้อมูลที่ได้มาทำการสรุปผลเพื่อเลือกใช้แนวทางที่เหมาะสมในรูปแบบการเรียนแบบโครงงาน
2) การร่างรูปแบบการเรียนแบบโครงงาน เพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รูปแบบ APD Model ประกอบด้วย 1) ทบทวนความรู้เดิม 2) นำเสนอเนื้อหาใหม่ และ 3) หลากหลายการเรียนรู้ การรับรององค์ประกอบรูปแบบมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก
3) การทดลองใช้รูปแบบการเรียนแบบโครงงาน เพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ค่าประสิทธิภาพกลุ่มตัวอย่าง มีประสิทธิภาพ 82.97/83.18
4) การประเมินผลและปรับปรุงแก้ไขรูปแบบการเรียนแบบโครงงาน เพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
(1) การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
(2) การประเมินความสามารถในทำโครงงาน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
(3) การประเมินความพึงพอใจของนักเรียน ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก