ชื่อเรื่อง การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้วัฏจักรการเรียนรู้ 7E บูรณาการใช้เทคโนโลยี
ผู้วิจัย นายณรงค์ศักดิ์ เอื้องสัจจะ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีที่พิมพ์ 2562
บทคัดย่อ
การวิจัย เรื่อง การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้วัฏจักรการเรียนรู้ 7E บูรณาการใช้เทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยม ศึกษาปีที่ 5 หลังได้รับการจัดการเรียนรู้วิชาฟิสิกส์ เรื่อง เสียงและการได้ยิน โดยใช้วัฏจักรการเรียนรู้ 7E บูรณาการใช้เทคโนโลยี 2) เพื่อศึกษาผลทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หลังได้รับการจัดการเรียนรู้วิชาฟิสิกส์ เรื่อง เสียงและการได้ยิน โดยใช้วัฏจักรการเรียนรู้ 7E บูรณาการใช้เทคโนโลยี และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้วัฏจักรการเรียนรู้ 7E บูรณาการใช้เทคโนโลยี รูปแบบการวิจัยแบบแผนการวิจัยแบบก่อนทดลอง (Pre-Experamental Designs) แบบ The single group posttest only designs กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นกลุ่มตัวอย่างที่ถูกเลือกแบบเจาะจงเลือก (Purposive Sampling) โดยเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/6 โครงการส่งเสริมอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สาย GIFTED) โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 34 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ วิชาฟิสิกส์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เรื่อง เสียงและการ ได้ยิน โดยใช้วัฏจักรการเรียนรู้ 7E บูรณาการใช้เทคโนโลยี จำนวน 10 แผนการจัดการเรียนรู้ เวลา 20 ชั่วโมง 2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาฟิสิกส์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เรื่อง เสียงและการได้ยิน แบบทดสอบวัดทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้ โดยใช้วัฏจักรการเรียนรู้ 7E บูรณาการใช้เทคโนโลยี สถิติที่ใช้ในการวิจัย คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (X) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) นำไปเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด
ผลการวิจัย พบว่า
1. นักเรียนมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของคะแนนเต็ม จำนวน 29 คน คิดเป็นร้อยละ 85.29 ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. นักเรียนมีคะแนนที่อยู่ในช่วงในระดับมีทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณในระดับปานกลางขึ้นไป จำนวน 27 คน โดยคิดเป็นร้อยละ 79.41 ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้
3. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้ โดยใช้วัฏจักรการเรียนรู้ 7E บูรณาการใช้เทคโนโลยี พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับความพึงพอใจมากที่สุด