ชื่อเรื่อง การพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์
ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียน โรงเรียนนาสะไมพิทยาคม
องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
ผู้วิจัย นายวิเชียร จันทะบุตร
หน่วยงาน โรงเรียนนาสะไมพิทยาคม อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
ปีที่วิจัย 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อดำเนินการพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจในด้าน
การจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียน โรงเรียนนาสะไมพิทยาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ในวงรอบที่ 1 และเพื่อดำเนินการพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิด วิเคราะห์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียน โรงเรียนนาสะไมพิทยาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี วงรอบที่ 2 โดยใช้กลยุทธ์ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การนิเทศภายในและการนิเทศแบบร่วมพัฒนาวิชาชีพ ซึ่งการดำเนินการพัฒนาได้ใช้หลักการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) โดยดำเนินการพัฒนาเป็น 2 วงรอบ กลุ่มผู้ร่วมวิจัย จำนวน 21 คน คือ ผู้วิจัย และครูผู้สอน จำนวน 20 คน กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน 72 คน ประกอบด้วยผู้อำนวยการโรงเรียนนาสะไมพิทยาคม และวิทยากร จำนวน 1 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 โดยการเลือกแบบเจาะจง จำนวน 70 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบทดสอบปรนัยชนิดเลือกตอบ แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกตพฤติกรรม แบบประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ แบบบันทึกการนิเทศภายใน และแบบบันทึกการประชุม การตรวจสอบข้อมูลใช้เทคนิคการตรวจสอบแบบสามเส้า(Triangulation Test) และสถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
วงรอบที่ 1 ผลการวิจัยพบว่า การใช้กลยุทธ์ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศภายใน สามารถช่วยให้ผู้ร่วมวิจัยสามารถวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ปัญหา การวางแผนการปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างเหมาะสม สามารถวิเคราะห์จุดเด่น จุดที่ควรพัฒนากำหนดทางเลือกในการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการร่วมกัน อีกทั้งยังได้รับความรู้จากการอบรมและการนิเทศภายในเพื่อพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ แนวคิด ทฤษฎีการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความรู้ความเข้าใจแนวทางการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้และวิธีการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น โดยผลคะแนนการทดสอบก่อนการอบรมมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 15.05 และ คะแนนเฉลี่ยหลังการอบรมเท่ากับ 27.45 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50.16 เป็นร้อยละ 91.50 การประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ของผู้ร่วมวิจัย มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในเกณฑ์คุณภาพระดับมาก
วงรอบที่ 2 ผลการวิจัยพบว่า กลยุทธ์การนิเทศแบบร่วมพัฒนาวิชาชีพ ซึ่งเป็นกระบวนการนิเทศการสอนเพื่อการปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนในชั้นเรียนโดยตรง โดยเริ่มต้นด้วยการพูดคุยปรึกษาหารือกันระหว่างครูกับผู้นิเทศเกี่ยวกับการเรียนการสอนช่วยให้ผู้ร่วมวิจัยสามารถจัดกิจกรรมการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เหมาะสมกับนักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจและมีความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มขึ้น