การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่ส่งเสริมมโนทัศน์และความสามารถในการแก้ปัญหาทางฟิสิกส์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ชื่อผู้วิจัย นางจำเนียร ฉัตรรัตนวารี ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษโรงเรียนครบุรี อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา
ปีที่พิมพ์ 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนื้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่ส่งเสริมมโนทัศน์และความสามารถในการแก้ปัญหาทางฟิสิกส์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 2) เพื่อศึกษาผลการทดลอง ใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่ส่งเสริมมโนทัศน์และความสามารถในการแก้ปัญหาทางฟิสิกส์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ด้าน 2.1) มโนทัศน์ทางฟิสิกส์ 2.2) ความสามารถในการแก้ปัญหาทางฟิสิกส์ 2.3) เจตคติต่อวิชาฟิสิกส์ การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การวิเคราะห์ โดยการวิเคราะห์ข้อมูลที่ใช้ในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ระยะที่ 2 การออกแบบและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน การดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ 1) การออกแบบรูปแบบการเรียนการสอน 2) การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน คู่มือการใช้รูปแบบการเรียนการสอน และแผนการจัดการเรียนรู้ ระยะที่ 3 ทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอน โดยการนำรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นไปทดลองใช้จริงกับนักเรียนกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนครบุรี อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 37 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1) แบบทดสอบวัดมโนทัศน์ทางฟิสิกส์ เรื่อง การเคลื่อนที่ จำนวน 1 ฉบับ เป็นแบบทดสอบแบบเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.92 2) แบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาทางฟิสิกส์ จำนวน 5 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.89 3) แบบวัดเจตคติต่อวิชาฟิสิกส์ จำนวน 1 ฉบับ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 15 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.91 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ 1) ค่าร้อยละ 2) ค่าเฉลี่ย 3) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ 4) สถิติทดสอบค่าที (t-test for Dependent Samples) ระยะที่ 4 การประเมิน การดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ 1) การประเมินระหว่างการใช้รูปแบบการเรียนการสอน 2) การประเมินหลังการใช้รูปแบบการเรียนการสอนและการนำเสนอรูปแบบการเรียนการสอน
ผลการวิจัย พบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 4 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการ 2) จุดมุ่งหมาย 3) กระบวนการจัดการเรียนรู้ 4) การวัดและประเมินผล กระบวนการจัดการเรียนรู้ เรียกว่า “VAREE Model” มีขั้นการเรียนรู้ 5 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 ตรวจสอบสิ่งที่รู้ (Verify knowledge Step : V) ขั้นที่ 2 ชวนดูสิ่งใหม่ ๆ (Attract Step : A) ขั้นที่ 3 ทำอย่างไรให้กระจ่าง (Realize Step : R) ขั้นที่ 4 ชี้ทางนำไปใช้ (Exercise Step : E) ขั้นที่ 5 ใส่ใจประเมินผล (Evaluation Step : E)
2. ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น พบว่า
2.1 นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีคะแนนเฉลี่ยความเข้าใจในมโนทัศน์ทางฟิสิกส์หลังทดลองสูงกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2.2 นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการแก้ปัญหาทางฟิสิกส์หลังทดลองสูงกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2.3 นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีเจตคติต่อวิชาฟิสิกส์อยู่ในระดับมากที่สุด (x̄=4.61 , S.D=0.53)