ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนแบบ 4SIE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ของนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัย นายปฏิญญา ชุลีกร
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
หน่วยงาน โรงเรียนบ้านโนนแฝก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 5
ปีการศึกษา 2560
ปีที่จัดพิมพ์ 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนแบบ 4SIE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนแบบ 4SIE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบ 4SIE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 4) เพื่อประเมินผลรูปแบบการเรียนการสอนแบบ 4SIE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านโนนแฝก ตำบลบัวงาม อำเภอ เดชอุดม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 5 ที่เรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 12 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แบบสำรวจวิธีการเรียนรู้ของนักเรียน 2) แบบสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ 3) แผนการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนแบบ 4SIE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง 4) แบบประเมินการปฏิบัติงาน 5) แบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง 6) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอนแบบ 4SIE Model การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่า t-test แบบ Dependent Sample และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานพบว่า นักเรียนมีความสนใจในการจัดการเรียนการสอบแบบ 4SIE Model เนื่องจากนักเรียนต้องการศึกษาด้วยการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง กระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ ผู้เรียนมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่เน้นความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ผู้เชี่ยวชาญสอนวิชาวิทยาศาสตร์เห็นด้วยกับรูปแบบการเรียนการสอนแบบ 4SIE Model ที่จะนำมาพัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหานักเรียนไม่สนใจในการเรียน และผลสัมฤทธิ์ต่ำ
ผลการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนแบบ 4SIE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถ ในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้รูปแบบกิจกรรมที่พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า 4SIE Model โดยรูปแบบมีองค์ประกอบคือ หลักการ วัตถุประสงค์ สาระการเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ การวัดผลและประเมินผล และสิ่งส่งเสริมการเรียนรู้ ได้แก่ ระบบสังคม หลักการตอบสนอง และสิ่งสนับสนุน สำหรับกระบวนการจัดกิจกรรมรูปแบบ การเรียนการสอนแบบ 4SIE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง มีขั้นดังนี้ 1) ขั้นสำรวจและกระตุ้นความคิด (Searching and Sparking : S) 2) ขั้นวางแผนทางเลือก (Systematize and Solution : S) 3) ขั้นปฏิบัติการ (Studying and Solving : S) 4) ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Showing and Sharing : S) 5) ขั้นจัดองค์ความรู้และประยุกต์ใช้ (Ideas for summarizing and Applying : E) 6) ขั้นประเมินผล (Evaluating : E)
ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบ 4SIE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า นักเรียนมีความสนใจและกระตือรือร้นในการเรียน ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติกิจกรรมเป็นอย่างดี ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.99/80.28
ผลการประเมินรูปแบบการเรียนการสอนแบบ 4SIE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถ ในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า 1) ผลการเรียนด้านความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาทางวิทยาศาสตร์หลังเรียนสูงกว่า ก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) ผลการเรียนด้านการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 3) ความพึงพอใจของนักเรียน ที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอนแบบ 4SIE Model เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง อยู่ในระดับมาก (x ̅ = 4.26, S.D= 0.71)