ชื่อผลงาน การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านไสขาม
ผู้ประเมิน นายสิรวิชญ์ ทองปรีชา
ผู้อำนวยการชำนาญการ โรงเรียนบ้านไสขาม
ปีการศึกษา 2561
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านไสขาม ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์
ดังนี้1) เพื่อประเมินความต้องการจำเป็นและความเป็นไปได้ของการจัดทำโครงการระบบดูแล
ช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านไสขาม 2) เพื่อประเมินความพร้อมด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ
ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านไสขาม 3) เพื่อประเมินความเหมาะสมด้านกระบวนการ
ของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านไสขาม และ 4) เพื่อประเมินผลผลิตของ
โครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านไสขาม การประเมินใช้รูปแบบการประเมินแบบ
ซิปป์ (CIPP Model) ของแดเนียล สตัฟเฟิลบีม (Daniel L. Stufflebeam) กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 ครูผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียน
บ้านไสขาม ปีการศึกษา 2561 จำนวน 97 คน ประกอบด้วย นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6
จำนวน 39 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 10 คน ผู้ปกครอง จำนวน 39 คน และ
คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 คน เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย แบบสอบถาม
จำนวน 4 ฉบับ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสอบถาม ทั้งก่อนดำเนินโครงการ ระหว่างดำเนิน
โครงการและหลังดำเนินโครงการ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินและข้อเสนอแนะสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมิน
1. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการจำเป็นและความเป็นไปได้ของการจัดทำโครงการ
ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านไสขาม อยู่ในระดับ มากที่สุด
2. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลความพร้อมด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือ
นักเรียน โรงเรียนบ้านไสขาม อยู่ในระดับ มากที่สุด
3. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลความเหมาะสมด้านกระบวนการของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือ
นักเรียน โรงเรียนบ้านไสขาม อยู่ในระดับ มากที่สุด
4. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการประเมินผลผลิตของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
โรงเรียนบ้านไสขาม อยู่ในระดับ มากที่สุด
สรุปผล การประเมินโครงการในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
ข้อเสนอแนะ
1. ด้านบริบทของโครงการ ควรชี้แจงทำความเข้าใจกับนักเรียนและผู้ปกครองถึงกิจกรรมที่
เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การคัดกรอง การส่งเสริมและพัฒนา
การช่วยเหลือแก้ไข และการส่งต่อ ซึ่งเป็นการดูแลนักเรียนรอบด้าน รวมถึงด้านผลการเรียน ดังนั้น
จึงสามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนได้และควรชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้เห็นถึง
ความสำคัญของการร่วมมือในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และควรกำกับติดตามการดำเนินงานตาม
โครงการโดยต่อเนื่อง
2. ด้านปัจจัยนำเข้า ควรเพิ่มจำนวนบุคลากรโดยรับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากองค์กร
ภายนอก หรือพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ ให้คำแนะนำช่วยเหลือ และติดตามผลใน
การดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และควรจัดงบประมาณสนับสนุนนแต่ละกิจกรรมให้เพียงพอเพื่อให้
การดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ด้านกระบวนการ ควรปรับปรุงวิธีการและเครื่องมือในการเก็บข้อมูลให้สอดคล้องกับ
กิจกรรม สรุปผลและจัดทำสารสนเทศ และเพิ่มกิจกรรมให้สอดคล้องกับกระบวนการการดูแล
ช่วยเหลือนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
4. ด้านผลผลิต ควรกำหนดวัตถุประสงค์ค่าเป้าหมายและตัวชี้วัดให้สอดคล้องกับ
กระบวนการดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อการขับเคลื่อนโครงการอย่างถูกทิศทางและประสบ
ความสำเร็จตามที่ตั้งไว้
5. ควรหาข้อมูลหรือทำวิจัยเชิงสำรวจเกี่ยวกับปัญหาของนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อเป็น
แนวทางในการแก้ปัญหาให้แก่นักเรียนต่อไป นอกจากนี้ยังพบว่านักเรียน ผู้ปกครอง และครู มีความ
พึงพอใจต่อโครงการในระดับมากที่สุด จึงควรจัดกิจกรรมตามโครงการอย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยน
กิจกรรมให้เหมาะกับความต้องการและสภาพปัญหาของนักเรียนเพื่อสร้างความพึงพอใจแก่นักเรียน
ผู้ปกครอง และครู ให้มากยิ่งขึ้นไป