ชื่อเรื่อง รายงานการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม เพื่อสร้างเสริมทักษะชีวิต เรื่อง ลอยน้ำได้ ว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำปลอดภัย กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -3
ผู้วิจัย นางตวงรัตน์ รื่นยุทธ์
ปีที่วิจัย 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม เพื่อสร้างเสริมทักษะชีวิตเรื่อง ลอยน้ำได้ ว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำปลอดภัย กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -3 มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม เพื่อสร้างเสริมทักษะชีวิต เรื่อง ลอยน้ำได้ ว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำปลอดภัย กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 2) เพื่อพัฒนาหลักสูตร 3) เพื่อศึกษาการใช้หลักสูตร และ 4) เพื่อประเมินผลการใช้หลักสูตร การวิจัยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาข้อมูลพื้นฐานสำรวจปัญหาและความต้องการ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษา นักวิชาการ ศึกษานิเทศก์ นักเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา จำนวน 100 คน ระยะที่ 2 การสร้างและพัฒนาหลักสูตร กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนเทศบาล 6 (วัดตันตยาภิรม) จำนวน 40 คน ระยะที่ 3 การทดลองใช้หลักสูตร กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนที่กำลังเรียนชั้นอยู่ประถมศึกษาปีที่ 1-3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนเทศบาล 6 (วัดตันตยาภิรม) จำนวน 45 คน ระยะที่ 4 ประเมินหลักสูตร กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้หลักสูตร จำนวน 60 คน หลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม เพื่อสร้างเสริมทักษะชีวิต เรื่อง ลอยน้ำได้ ว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำปลอดภัย กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวน 7 หน่วยการเรียน 20 แผนการเรียนรู้ ใช้เวลา 40 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูล ได้แก่ 1) แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ 2) แบบวัดความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต 3) แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 4) แบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อหลักสูตร แบบวัดความพึงพอใจของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาที่มีต่อหลักสูตร และ 5) แบบประเมินการใช้หลักสูตร สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมุติฐานด้วย t - test (Dependent Samples)
ผลการวิจัย พบว่า
1) สภาพปัญหาของสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทย คือ การเสียชีวิตจากการ จมน้ำ โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมใหญ่ภาคฤดูร้อน 3 เดือน (มีนาคม-พฤษภาคม) ซึ่งเป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กอายุ 5-9 ปี เพื่อลดจำนวนการเสียชีวิตของเด็กไทย ความต้องการมากที่สุด คือ
1.1) ต้องการเปลี่ยนวิชาว่ายน้ำ "ให้เป็น" หลักสูตร ลอยน้ำได้ ว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำปลอดภัย โดยการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม เพื่อสร้างเสริมทักษะชีวิต เรื่อง ลอยน้ำได้ ว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำปลอดภัย กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -3
1.2) นักเรียนต้องมีทักษะในการในการเอาชีวิตรอดทางน้ำ ตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไป
1.3) นักเรียนควรได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงและมีการวัดผลประเมินผลที่เหมาะสมสื่อ และแหล่งเรียนรูที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ควรสร้างเสริมทักษะชีวิต
2) ผลการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม เพื่อสร้างเสริมทักษะชีวิต เรื่อง ลอยน้ำได้ ว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำปลอดภัย กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -3 ประกอบไปด้วย บทนำ หลักการ จุดมุ่งหมาย คำอธิบายรายวิชา ผลการเรียนรู้ โครงสร้างรายวิชา การจัดการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ การวัดผลประเมินผล ผลการประเมินความเหมาะสมของของหลักสูตร พบว่า โดยภาพรวมมีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.65 , S.D. = 0.48)
3) ผลการใช้หลักสูตร พบว่า
3.1) ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เฉลี่ยเท่ากับ 25.51 ผ่านเกณฑ์ทีกำหนด คิดเป็นร้อยละ 85.04
3.2) สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน ด้านการใช้ทักษะชีวิต พบว่านักเรียนมีพัฒนาการทักษะชีวิตหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3.3) ผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม เพื่อสร้างเสริมทักษะชีวิต เรื่อง ลอยน้ำได้ ว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำปลอดภัย ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x̄ = 2.91 , S.D. = 0.27)
3.4) ครูและคณะกรรมการสถานศึกษามีความพึงพอใจต่อหลักสูตรภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.71, S.D. = 0.47)
4) การประเมินผลการพัฒนาหลักสูตร กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้หลักสูตร จำนวน 60 คน พบว่า หลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม เพื่อสร้างเสริมทักษะชีวิต เรื่อง ลอยน้ำได้ ว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำปลอดภัย กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -3 มีความเหมาะสม ในระดับ มากที่สุด ใช้ในการเรียนการสอนเพื่อสร้างเสริมทักษะชีวิตให้แก่ผู้เรียนต่อไป