บทคัดย่อ
เรื่อง การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
เรื่อง มหัศจรรย์แห่งมหรรฆพฤกษ์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย นางสาวณัฐจิกานต์ มาลาสิงห์
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
หน่วยงานที่สังกัด โรงเรียนเทศบาล 5 (วัดกลางวรวิหาร) เทศบาลนครสมุทรปราการ
จังหวัดสมุทรปราการ
ระยะเวลาที่ทำการวิจัย ปีการศึกษา 2560
การวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยแบบวิจัยและพัฒนา(Research and Development:R&D)โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง มหัศจรรย์แห่งมหรรฆพฤกษ์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 5 (วัดกลางวรวิหาร) มีขั้นตอนในการวิจัยและพัฒนา 4 ขั้นตอน คือ 1) การศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการ 2) การพัฒนาและหาคุณภาพของหลักสูตร 3) การทดลองใช้หลักสูตรและ 4)การประเมินผลและปรับปรุงแก้ไข กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนเทศบาล 5 (วัดกลางวรวิหาร) อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ รวมจำนวนทั้งสิ้น 129 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง มหัศจรรย์แห่งมหรรฆพฤกษ์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 5 (วัดกลางวรวิหาร) 2) แบบประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ตามวิธีของลิเคอร์ท (Likert) ซึ่งมีระดับความเหมาะสม 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ 3) แบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อหลักสูตร เรื่อง มหัศจรรย์แห่งมหรรฆพฤกษ์
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง มหัศจรรย์แห่งมหรรฆพฤกษ์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ทำให้ได้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่จะนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ในรายวิชาพื้นฐาน รวมจำนวน 4 หน่วยการเรียนรู้ 8 แผนการจัดการเรียนรู้ ใช้เวลาเรียนรวม 16 ชั่วโมง ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560
2. ผลการประเมินความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อแผนการจัการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง มหัศจรรย์แห่งมหรรฆพฤกษ์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 5 (วัดกลางวรวิหาร) ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น พบว่า มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับเหมาะสมมาก ค่าเฉลี่ย (X- = 4.23) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากขึ้นในทุกข้อ โดยเรียงค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่ ผังมโนทัศน์มีความเหมาะสมมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย (X- = 4.80) พันธกิจและสื่อ/แหล่งการเรียนรู้ (X- = 4.60) และการ
วิเคราะห์หลักสูตรสาระการเรียนรู้ชั้นปี ผลการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้รายภาคมีความเหมาะสมมากมีค่าเฉลี่ย(X- = 4.40)
3. ผลการวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อหลักสูตรท้องถิ่น กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง มหัศจรรย์แห่งมหรรฆพฤกษ์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 5 (วัดกลางวรวิหาร) พบว่า นักเรียนทุกคนให้ความสนใจในกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตร โดยเฉพาะกิจกรรมที่นักเรียนลงมือปฏิบัติ ได้แก่ การได้ปฏิบัติแปรรูปพืชสมุนไพร ให้เป็นลูกอม น้ำยาบ้วนปาก และยาสีฟันสมุนไพร รวมถึงการได้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์กับตนเอง นักเรียนทุกคนทั้งนักเรียนหญิงและนักเรียนชาย ให้ความสนใจในการปฏิบัติกิจกรรมเท่ากัน แต่ในการนำเสนอโครงงานด้วยปากเปล่า นักเรียนหญิงจะพูดได้ดีกว่านักเรียนชาย การจัดกิจกรรมจัดนิทรรศการ นักเรียนทุกคนกระตือรือร้นในการทำงาน มีการเตรียมอุปกรณ์เพื่อตกแต่งสถานที่ มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบและร่วมมือในการทำงานภายในกลุ่มดีมาก