ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนบ้านแก้งวิทยา
โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
ผู้วิจัย นางเตือนใจ ดอกบุญนาค
โรงเรียนบ้านแก้งวิทยา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีที่วิจัย 2560
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนบ้านแก้งวิทยา โดยการมีส่วนร่วม
ของชุมชน มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนบ้านแก้งวิทยา โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ในด้านต่างๆ ดังนี้ (1) ปัจจัยพื้นฐานด้านบริบทของโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ (Context) (2) ปัจจัยนำเข้าในการดำเนินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ (Input) (3) กระบวนการปฏิบัติระหว่างดำเนินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ (Process) และ (4) ผลผลิตของโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ (Product) โดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPP Model สตัฟเฟิลบีม(Stufflebeam, 1985 อ้างถึงใน สมหวัง พิธิยานุวัฒน์, 2544) กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้รับผิดชอบโครงการ นักเรียน ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนบ้านแก้งวิทยา ปีการศึกษา 2560 รวมทั้งสิ้นจำนวน 605 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 3 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ค่าเฉลี่ย (x̄ ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนบ้านแก้งวิทยา โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้านบริบท ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้รับผิดชอบโครงการ พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก
2. ผลการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนบ้านแก้งวิทยา โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้านปัจจัยนำเข้า ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้รับผิดชอบโครงการ พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก
3. ผลการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนบ้านแก้งวิทยา โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้านกระบวนการ ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้รับผิดชอบโครงการ พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และตามความคิดเห็นของนักเรียน พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก รวมทั้งการให้บริการและเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน ตลอดจนการให้ชุมชนมีส่วนร่วม
ในกิจกรรมของโรงเรียนตามความคิดเห็นของผู้ปกครองและกรรมการสถานศึกษา พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เช่นเดียวกัน
4. ผลการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนบ้านแก้งวิทยา โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้านผลผลิต ทั้งตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้รับผิดชอบโครงการ นักเรียน ผู้ปกครอง และกรรมการสถานศึกษา พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก