การดำเนินการวิจัย เรื่อง รูปแบบการพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมการคิดโดยใช้ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเป็นฐาน สำหรับโรงเรียนเทศบาล 1 สังกัดเทศบาลเมืองท่าเรือพระแท่น ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยโดยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา และการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อศึกษาตามความมุ่งหมายของการวิจัยที่กำหนดไว้ 3 ข้อ ได้แก่ (1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน และความต้องการเกี่ยวกับการส่งเสริมการคิดในโรงเรียนเทศบาล 1 สังกัดเทศบาลเมืองท่าเรือพระแท่น (2) เพื่อศึกษาสภาพการณ์เบื้องต้นเกี่ยวกับการส่งเสริมการคิดในโรงเรียนเป้าหมาย (3) เพื่อพัฒนารูปแบบการพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมการคิดโดยใช้ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเป็นฐานผ่านการดำเนินการวิจัยด้วยกระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึก และแบบประเมิน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยปรากฏ ดังนี้
1. สภาพปัจจุบันของการดำเนินงานเกี่ยวกับการส่งเสริมการคิดของโรงเรียนเทศบาล 1 สังกัดเทศบาลเมืองท่าเรือพระแท่น ในปัจจุบันโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และความต้องการในการพัฒนาโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ส่วนปัญหาสำคัญที่พบ คือ การวัดและประเมินผลทักษะการคิดของผู้เรียน
2. สภาพการณ์เบื้องต้นเกี่ยวกับการส่งเสริมการคิดในโรงเรียนเป้าหมาย โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก และความต้องการในการพัฒนาโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ปัญหาที่พบ คือ ขาดความเชื่อมโยงในการจัดหลักสูตร การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และการวัดผล ประเมินผลเพื่อพัฒนาทักษะการคิด
3. รูปแบบการพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมการคิด โดยใช้ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเป็นฐานสาหรับโรงเรียนเทศบาล 1 สังกัดเทศบาลเมืองท่าเรือพระแท่น ประกอบด้วย (1) แนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะการคิดโดยใช้ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเป็นฐานโดยใช้ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเป็นฐาน 5 ขั้นตอน ได้แก่ การจุดประกายวัฒนธรรมการเรียนรู้การสร้างบรรทัดฐานและค่านิยมร่วมกัน การวางแผนและกำหนดกรอบการทำงานร่วมกัน การสร้างวัฒนธรรมความร่วมมือ การสืบเสาะแสวงหาความรู้ การปฏิบัติงานและสนทนาเชิงสะท้อนผลอย่างสร้างสรรค์ การนำเสนอผลการปฏิบัติงาน และการปรับปรุงพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง (2) แนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะการคิด 2 แนวทาง คือ แบบเครือข่ายพัฒนาและแบบเพื่อนคู่คิด (3) การกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินงาน (4) แนวทางการดำเนินกิจกรรมโดยจัดทาคู่มือแนวทางการดำเนินงานที่ครอบคลุมการพัฒนาทักษะการคิดในโรงเรียน 6 องค์ประกอบ ได้แก่ การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาทักษะการคิด การจัดทำหลักสูตรบูรณาการที่ส่งเสริมทักษะการคิด การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิด การจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะการคิด การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่กระตุ้นทักษะการคิด และการวัดและประเมินผลทักษะการคิด (5) แนวทางการนิเทศ ติดตามการดำเนินงาน และ (6) การประเมินผล
4. ผลการใช้รูปแบบการพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมการคิด พบว่า
4.1 ผลการประเมินการดำเนินงานตามองค์ประกอบที่สะท้อนชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพทั้งการประเมินตนเองและบุคคลภายนอก อยู่ในระดับมาก
4.2 ผลการประเมินการดำเนินงานตามองค์ประกอบที่สะท้อนการเป็นโรงเรียนส่งเสริมการคิด ทั้งการประเมินตนเองและบุคคลภายนอก อยู่ในระดับมากที่สุด
4.3 ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการใช้รูปแบบการพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมการคิดโดยภาพรวมในระดับมากที่สุด
ผลการวิจัยชี้ว่า รูปแบบการพัฒนาโรงเรียนส่งเสริมการคิดโดยใช้ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเป็นฐานสำหรับโรงเรียนเทศบาล 1 สังกัดเทศบาลเมืองท่าเรือพระแท่น มีความเหมาะสมความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้จริง