บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง รายงานผลการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านที่มีต่อ การสร้างสัมพันธภาพของเด็กปฐมวัย
ผู้วิจัย พาบีละ เจ๊ะโด
ปีการศึกษา 2561
การวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาชุดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านที่มีต่อการสร้างสัมพันธภาพของเด็กปฐมวัย ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการสร้างสัมพันธภาพของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านที่มีต่อการสร้างสัมพันธภาพ 3) เพื่อเปรียบเทียบสัมพันธภาพของเด็กปฐมวัยก่อนและหลัง การจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านที่มีต่อการสร้างสัมพันธภาพ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ เด็กปฐมวัย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอนุบาล 3 ขวบ โรงเรียนบ้านเจาะเกาะ กองการศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ปีการศึกษา 2561 จำนวน 21 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) ชุดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านที่มีต่อการสร้างสัมพันธภาพ 2) แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ จำนวน 25 แผน 3) แบบสังเกตพฤติกรรมการสร้างสัมพันธภาพ 4) แบบประเมินสัมพันธภาพของเด็กปฐมวัย สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) และ การทดสอบ (t-test)
ผลการศึกษาพบว่า
1. ชุดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านที่มีต่อการสร้างสัมพันธภาพของเด็กปฐมวัย มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 81.52/82.38 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คือ 80/80
2. เด็กปฐมวัย หลังได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านมีพฤติกรรมต่อการสร้างสัมพันธภาพ โดยภาพรวมอยู่ในระดับค่อนข้างมากโดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.18 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.26
3. เด็กปฐมวัยหลังได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน ที่มีต่อการสร้างสัมพันธภาพสูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
กิตติกรรมประกาศ
งานวิจัยฉบับนี้ สำเร็จสมบูรณ์ลงได้ ด้วยความกรุณาจาก สิบตำรวจตรี มนัส ยิ่งสุขเจริญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบูกิต นายอนุพงศ์ อารง ผู้อำนวยการกองการศึกษา องค์การบริหาร ส่วนตำบลบูกิตและคณะวิทยากรที่ให้การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาท้องถิ่น เพื่อให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะระดับชำนาญการพิเศษที่ได้กรุณาถ่ายทอดความรู้ แนวคิด วิธีการ ตลอดถึงให้คำปรึกษาและแนะนำการเขียนรายงานการวิจัยด้วยความเอาใจใส่ยิ่ง
ขอขอบพระคุณผู้เชี่ยวชาญ ทุกท่าน ที่ได้สละเวลาเพื่อตรวจสอบเครื่องมือในการวิจัยและ ให้ข้อเสนอแนะ คำแนะนำต่าง ๆ ทำให้เครื่องมือวิจัยมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ขอขอบคุณคณะครูและเด็กปฐมวัย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอนุบาล 3 ขวบ โรงเรียนบ้านเจาะเกาะ กองการศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ที่ให้ความร่วมมือ ในการเป็นกลุ่มตัวอย่างและให้กำลังใจในการทำผลงานทางวิชาการครั้งนี้เป็นอย่างดียิ่ง
คุณประโยชน์ที่เกิดจากการทำผลงานทางวิชาการครั้งนี้ ข้าพเจ้าขออุทิศให้กับบิดามารดา และครอบครับของข้าพเจ้าที่คอยช่วยเหลือสนับสนุน ให้คำแนะนำ กำลังใจ จนงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
พาบีละ เจ๊ะโด