ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างทักษะทางภาษา
แบบองค์รวม สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1
ผู้วิจัย นางมณี กลมเกลี้ยง
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล ๓ ห้าธันวาคม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร
สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองยโสธร
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาสภาพและปัญหาด้านการจัดประสบการณ์ ทางภาษาแบบองค์รวม สำหรับเด็กปฐมวัย 2) พัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างทักษะทางภาษาแบบองค์รวม สำหรับเด็กปฐมวัย และ 3) ศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างทักษะทางภาษาแบบองค์รวม สำหรับเด็กปฐมวัย กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย ได้แก่ ครูผู้สอนปฐมวัยและนักเรียนระดับปฐมวัย โรงเรียนเทศบาล ๓ ห้าธันวาคม สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ปีการศึกษา 2560 ประกอบด้วยข้อมูลพื้นฐานจากแบบสอบถามเกี่ยวกับสภาพและปัญหาการจัดประสบการณ์ทางภาษา สำหรับเด็กปฐมวัย โดยครูผู้สอนปฐมวัย จำนวน 45 คน จากการสัมภาษณ์ จำนวน 10 คน จากสังเกตพฤติกรรมนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 จำนวน 10 คน ทดลองรูปแบบ จำนวน 35 คน และนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง ในการศึกษาประสิทธิผลรูปแบบ จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) คู่มือการจัดประสบการณ์ตามแนวทางของรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างทักษะทางภาษา แบบองค์รวม สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 2) แบบทดสอบวัดทักษะทางภาษา สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 จำนวน 24 ข้อ 3) แบบสอบถามวัดความพึงพอใจของเด็กปฐมวัยที่มีต่อรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างทักษะทางภาษาแบบองค์รวม สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 จำนวน 10 ข้อ และ 4) แบบสอบถามความคิดเห็นของครูปฐมวัยที่มีต่อรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างทักษะทางภาษาแบบองค์รวม สำหรับเด็กปฐมวัย สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมุติฐานโดยใช้ t-test (Dependent sample)
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานสภาพการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ทางภาษา และข้อมูลทักษะภาษาของเด็กปฐมวัย พบว่า การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างทักษะ ทางภาษา สำหรับเด็กปฐมวัย ยังมีปัญหาและต้องการพัฒนาเพิ่มขึ้น โดยรวมอยู่ในระดับมาก การกำหนดนิยามพฤติกรรมบ่งชี้ในองค์ประกอบของทักษะทางภาษาแบบองค์รวม พบว่า ทักษะทางภาษาแบบองค์รวม ควรประกอบด้วยความสามารถในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารของเด็กปฐมวัย 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน สำหรับแนวทางการพัฒนาทักษะทางภาษา แบบองค์รวม ควรจัดประสบการณ์ทางภาษาให้มีความหมายกับผู้เรียน ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษา ที่หลากหลาย ให้เหมาะสมกับความแตกต่างของผู้เรียนรายบุคคล เพื่อจะได้เรียนรู้ภาษาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่มีความท้าทาย จูงใจให้ร่วมปฏิบัติ และสามารถประสบความสำเร็จในการทำกิจกรรมด้วยตนเอง ส่วนแนวทางการพัฒนาทักษะทางภาษาของผู้เรียนให้บรรลุผลนั้น ควรจัดประสบการณ์โดยประยุกต์ใช้แนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องสนับสนุน ได้แก่ กรอบแนวคิดทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจท์ ทฤษฎีการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมสังคมของไวก็อตสกี้ การจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน การจัดประสบการณ์ภาษาแบบธรรมชาติ การจัดประสบการณ์แบบเรกจิโอ เอมีเลีย และแนวคิดการจัดประสบการณ์แบบไฮสโคป
2. การสร้างและทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างทักษะ ทางภาษาแบบองค์รวม สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 พบว่า รูปแบบการจัดประสบการณ์ การเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างทักษะทางภาษาแบบองค์รวม มีองค์ประกอบ ได้แก่ 1) หลักการของรูปแบบ 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 3) ขั้นตอนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และ 4) การวัดและประเมินผล โดยมีกระบวนการจัดประสบการณ์ตามขั้นตอนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ประกอบด้วย 5 ขั้น ได้แก่ 1) ขั้นการสร้างความสนใจ 2) ขั้นเผชิญสถานการณ์ 3) ขั้นลงมือปฏิบัติ 4) ขั้นแลกเปลี่ยนและสรุปความรู้ และ 5) ขั้นการประยุกต์ใช้และประเมินผล ซึ่งผลการประเมิน ความเหมาะสมของรูปแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้มี ความเหมาะสมระดับมาก
3. การศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างทักษะ ทางภาษาแบบองค์รวม สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอุบาลปีที่ 1 พบว่า 1) เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์ตามรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ มีทักษะทางภาษาโดยรวมและรายด้านเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 2) เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามรูปแบบมีความพึงพอใจต่อประสบการณ์การเรียนรู้โดยรวมอยู่ในระดับมาก และ 3) ความคิดเห็นของครูปฐมวัยที่มีต่อรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก