ชื่อเรื่อง การพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะหลักภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาธิตเทศบาลนครระยอง(วัดตรีรัตนาราม)
จังหวัดระยอง
ผู้ศึกษา นางสาวสินีนาถ สุขศิริกุล
ปีที่ศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะหลักภาษาไทย กลุ่มสาระ
การเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกเสริมทักษะหลักภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนด้วยแบบฝึก
เสริมทักษะหลักภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน
กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนสาธิตเทศบาลนครระยอง(วัดตรีรัตนาราม) จังหวัดระยอง จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 29 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย (simple random sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบฝึกเสริมทักษะหลักภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 8 เล่ม และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ ที่มีค่า
ความยากง่ายระหว่าง 0.53-0.73 ค่าอำนาจจำแนกระหว่าง 0.37-0.57 และค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบทั้งฉบับเท่ากับ 0.91 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที (t-test Dependent)
ผลการวิจัยพบว่า
1. แบบฝึกเสริมทักษะหลักภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษา
ปีที่ 4 มีประสิทธิภาพ 84.03/86.20
2. ดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกเสริมทักษะหลักภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีค่าเท่ากับ 0.7235 ซึ่งหมายความว่านักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.35
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
สรุปผลการวิจัยครั้งนี้ปรากฏว่า แบบฝึกเสริมทักษะหลักภาษาไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เป็นนวัตกรรมการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ศึกษาเรียนรู้
ด้วยตนเอง สนองความแตกต่างระหว่างบุคคล ทำให้นักเรียนมีความสนใจในบทเรียน ตั้งใจในการเรียน จนทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น จึงเป็นนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมในการจัด
การเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยอย่างมีประสิทธิภาพ