ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์
เพื่อส่งเสริมความซื่อสัตย์ ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2
ผู้วิจัย นางสาวสโรชา ยาวะโนภาส
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล ๓ ห้าธันวาคม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร
สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองยโสธร
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ 2) เพื่อสร้างและตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการจัดประสบการณ์ การเรียนรู้ 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของเด็กปฐมวัยที่มีต่อการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ โดยใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์แบบเน้นประสบการณ์ เพื่อส่งเสริมความซื่อสัตย์ ของเด็กปฐมวัย
การดำเนินการวิจัยเป็นแบบวิจัยและพัฒนา 4 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ขั้นศึกษาข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ ขั้นที่ 2 ขั้นสร้างและตรวจสอบรูปแบบการจัดประสบการณ์ ขั้นที่ 3 ขั้นทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ และขั้นที่ 4 ขั้นศึกษาความพึงพอใจของเด็กปฐมวัยที่มีต่อการเรียนโดยใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ เด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2/1 โรงเรียนเทศบาล ๓ ห้าธันวาคม กองการศึกษา เทศบาลเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ที่กำลังเรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 31 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) ทำการทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น ใช้เวลาในการทดลองทั้งสิ้น 8 สัปดาห์ โดยใช้แบบแผนการวิจัย One-Group Pretest-Posttest Design ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วย แบบประเมินความซื่อสัตย์ ของเด็กปฐมวัย และแบบสังเกตพฤติกรรมความซื่อสัตย์ของเด็กปฐมวัย แล้ววิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติทดสอบที (t-test แบบ Dependent)
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. ผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านเห็นความสำคัญของการพัฒนาความซื่อสัตย์ในเด็กปฐมวัย เพราะเป็นวัยที่มีความสำคัญในการพัฒนาจริยธรรม เป็นระยะที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาในทุกด้าน ครูควรเน้นพัฒนาความซื่อสัตย์ด้วยการสอนเด็กให้พูดความจริง ไม่โกหก รักษาคำพูด ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ไม่เอาของคนอื่นมาเป็นของตนเอง มีความยุติธรรม การพัฒนาความซื่อสัตย์ในเด็กปฐมวัย ควรมี การใช้วิธีการที่หลากหลาย จัดประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม การสร้างกิจกรรมให้เด็ก มีปฏิสัมพันธ์ สอนแบบธรรมชาติ ใช้ประสบการณ์จริง สถานการณ์จริง ให้เด็กมีโอกาสฟัง เดิน สังเกต ทดลอง เน้นการลงมือกระทำ ฝึกในเรื่องของชีวิตประจำวัน และโยงให้เข้ากับจริยธรรมที่ครูต้องการพัฒนา
2. รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น คือ รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ เพื่อส่งเสริมความซื่อสัตย์ ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ สาระ กระบวนการจัดประสบการณ์ และ การประเมินผล โดยกระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้มี 4 ขั้นตอน ตามกระบวนการของ CTCA คือ 1) สร้างประสบการณ์รูปธรรม 2) ร่วมคิดร่วมทำ 3) สรุป และ 4) นำไปใช้ เมื่อนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบคุณภาพ พบว่า โดยภาพรวมรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ มีความเหมาะสม ในระดับมากที่สุดและเมื่อนำไปทดลองนำร่องพบว่า รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่สร้างขึ้น มีความเหมาะสม สามารถนำไปทดลองได้
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ พบว่า ความซื่อสัตย์ของเด็กปฐมวัยหลังการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ที่พัฒนาขึ้นสูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. เด็กปฐมวัยส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามรูปแบบการจัดประสบการณ์ที่พัฒนาขึ้น เด็กอยากเรียนรู้และมีความสนใจในกิจกรรมที่ครูจัดให้ เด็กได้ร่วมกิจกรรมกับครู โดยผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย สนองตอบความต้องการของตนเองและยังส่งเสริมความซื่อสัตย์ให้กับเด็กปฐมวัยอีกด้วย