บทคัดย่อ
การวิจัยและพัฒนาครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) เพื่อศึกษาคุณลักษณะที่เป็นตัวบ่งชี้การเป็นนักเรียนต้นแบบด้านการเรียนรู้ด้วยตนเอง 2) เพื่อสร้างและพัฒนากระบวนการสู่การเป็นนักเรียนต้นแบบด้านการเรียนรู้ด้วยตนเอง 3) เพื่อติดตามผลนักเรียนต้นแบบตามโครงการมหิงสาสายสืบ ตามวิธีตามแบบวิธีการศึกษาของโคกก่อพิทยาคม โดยผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาคุณลักษณะที่เป็นตัวบ่งชี้การเป็นนักเรียนต้นแบบด้านการเรียนรู้ด้วยตนเอง กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา และรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ จำนวน 5 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบประเมินความสอดคล้องของคุณลักษณะที่เป็น ตัวบ่งชี้การเป็นนักเรียนต้นแบบด้านการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่มีผลการประเมินค่าความสอดคล้อง ตั้งแต่ 0.60-1.00 ขั้นตอนที่ 2 การออกแบบและพัฒนากิจกรรมการพัฒนานักเรียนต้นแบบด้านการเรียนรู้ด้วยตนเอง ตามแบบวิธีการศึกษาของโคกก่อพิทยาคม กลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการมหิงสาสายสืบ จำนวน 20 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 20 คน ซึ่งเป็นครูผู้สอนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ได้แก่ เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ 1) คู่มือกิจกรรมพัฒนานักเรียนต้นแบบด้านการเรียนรู้ด้วยตนเอง 2) แบบวัดคุณลักษณะการเป็นนักเรียนต้นแบบด้านการเรียนรู้ด้วยตนเอง
3) แบบสอบถามความพึงพอใจ และ 4) แบบประเมินความเหมาะสม ความเป็นไปได้และความเป็นประโยชน์ของกิจกรรมพัฒนานักเรียนต้นแบบด้านการเรียนรู้ด้วยตนเอง ขั้นตอนที่ 3 ติดตามผลนักเรียนต้นแบบตามโครงการมหิงสาสายสืบ ตามวิธีตามแบบวิธีการศึกษาของโคกก่อพิทยาคม กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนที่นำเสนอผลงานเข้าประกวดตามโครงการมหิงสาสายสืบ ปีการศึกษา 2560 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรมนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และร้อยละ
ผลการวิจัยพบว่า
1.คุณลักษณะที่เป็นตัวบ่งชี้การเป็นนักเรียนต้นแบบด้านการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ 23 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ ด้านความคิดและการจัดการ จำนวน 6 ตัวบ่งชี้ ด้านการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น จำนวน 6 ตัวบ่งชี้ ด้านการทำงานและการเป็นพลเมืองดี จำนวน 6 ตัวบ่งชี้ และด้านการใช้ชีวิตและการดูแลตนเอง จำนวน 5 ตัวบ่งชี้
2.ผลการสร้างและพัฒนากระบวนการสู่การเป็นนักเรียนต้นแบบด้านการเรียนรู้ด้วย
ตนเอง ประกอบด้วย 8 กิจกรรมที่มุ่งเน้นและปรับพฤติกรรมให้นักเรียนมีคุณลักษณะการเป็นนักเรียนต้นแบบด้านการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมมีคะแนนคุณลักษณะการเป็นนักเรียนต้นแบบด้านการเรียนรู้ด้วยตนเอง หลังการจัดกิจกรรมเพิ่มขึ้น และมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมอยู่ในระดับมากที่สุด และผู้ทรงคุณวุฒิมีความคิดเห็นต่อความเหมาะสม ความเป็นไปได้และความเป็นประโยชน์ของกิจกรรมพัฒนานักเรียนต้นแบบด้านการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยรวมและเป็นรายด้านอยู่ในระดับมาก
3.การติดตามผลนักเรียนต้นแบบตามโครงการมหิงสาสายสืบ โรงเรียนโคกก่อพิทยาคม
พบว่านักเรียนที่นำเสนอผลงานเข้าประกวดตามโครงการมหิงสาสายสืบ ปีการศึกษา 2560 ได้แก่ โครงการโลกสวยด้วยไส้เดือน โครงการมะเหลี่ยมหินถิ่นโคกก่อ โครงการเจาะเวลาหาหมี่ และโครงการพริกเผ็ดๆ พริกรสเด็ดโคกก่อ ได้รับโล่รางวัลและเกียรติบัตร จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สรุปผลจากการพัฒนากระบวนการสู่การเป็นนักเรียนต้นแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง ตามแบบวิธีการศึกษาของโคกก่อพิทยาคม ที่เริ่มจากการสังเคราะห์องค์ประกอบคุณลักษณะการเป็นนักเรียนต้นแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง การสร้างและพัฒนากิจกรรมที่เหมาะสมกับคุณลักษณะแต่ละด้านที่ผ่านการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญอย่างเป็นระบบ และการนำไปใช้จริงกับกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการมหิงสาสายสืบ ที่มีเป้าหมายมุ่งหวังให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นการเชื่อมโยงความรู้กับกระบวนการ มีทักษะสำคัญในการค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ โดยใช้กระบวนการในการสืบเสาะหาความรู้และการแก้ปัญหาที่หลากหลาย ผลจากการพัฒนาทำให้นักเรียนต้นแบบตามโครงการมหิงสาสายสืบเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้เข้าร่วมโครงการรุ่นต่อไป นอกจากนี้ยังได้รูปแบบและกิจกรรมที่เหมาะสม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถนำวิธีการหรือกระบวนการไปปรับใช้เพื่อพัฒนานักเรียนต้นแบบด้านอื่นๆ