ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิด Active Learning เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทย โดยใช้หนังสืออ่านประกอบ ชุดสระพาเพลิน
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล 5 บ้านกาหยี
ชื่อผู้วิจัย นางฟักรียะห์ อาบู
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิด Active Learning เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทย โดยใช้หนังสืออ่านประกอบชุดสระพาเพลิน สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล 5 บ้านกาหยี 2) สร้างและพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิด Active Learning เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทยโดยใช้หนังสืออ่านประกอบ ชุดสระพาเพลิน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล 5 บ้านกาหยี 3) ทดลองใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิด Active Learning เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทย โดยใช้หนังสืออ่านประกอบ ชุดสระพาเพลิน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล 5 บ้านกาหยี และ 4) ประเมินผลการใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิด Active Learning เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทยโดยใช้หนังสืออ่านประกอบ ชุดสระพาเพลิน สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล 5 บ้านกาหยี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1/1 โรงเรียนเทศบาล 5 บ้านกาหยี จำนวน 29 คน เครื่องมือ ที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ หนังสืออ่านประกอบชุดสระพาเพลิน แบบประเมินความเหมาะสม แบบทดสอบ และแบบประเมินความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทีแบบไม่อิสระ และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัย พบว่า
ตอนที่ 1 ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิด Active Learning เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทย โดยใช้หนังสืออ่านประกอบ ชุดสระพาเพลิน สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล 5 บ้านกาหยี พบว่า นักเรียนอ่านและเขียนหนังสือผิด ๆ ถูก ๆ อ่านออกเสียงเพี้ยนอ่านและเขียนตกหล่นไม่ถูกต้องเพราะขาดการฝึกฝนไม่ทราบความหมายของคำ ไม่พยายามศึกษาหลักเกณฑ์ทางภาษา ไม่เข้าใจหลักเกณฑ์การอ่านการเขียนคำตามหลักภาษาไทยที่ประสมด้วยสระและมีตัวสะกดค่อนข้างซับซ้อนจดจำตัวอย่างการใช้ภาษาที่ผิดจากสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อมวลชน และอินเทอร์เน็ต แล้วนำมาใช้จนเกิดความเคยชิน และครูขาดความเข้าใจในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการคิดแก้ปัญหา ขาดสื่อและแหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็ก เพราะเด็กใช้ภาษาท้องถิ่น ทำให้เกิดปัญหาด้านการอ่านและการเขียนนักเรียนมักเกิดความสับสนและผิดพลาดในการอ่านและเขียนภาษาไทย
ตอนที่ 2 ผลการสร้างและการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิด Active Learning เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทยโดยใช้หนังสืออ่านประกอบชุดสระพาเพลิน ที่พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า A FACK Model มีองค์ประกอบคือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สิ่งที่เสริมสร้างการเรียนรู้ และเงื่อนไขในการใช้รูปแบบการเรียนรู้ ซึ่งมีกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 5 ขั้นตอนคือ 1) ขั้นกระตุ้นให้ทำ (Activate) 2) ขั้นค้นหา (Ferret) 3) ขั้นสรุป (Abstract) 4) ขั้นเชื่อมต่อ (Connect) และ 5) ขั้นความรู้ ความเข้าใจ (Knowledge) ผลการประเมินความเหมาะสมการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ พบว่า รูปแบบการเรียนรู้โดยภาพรวมมีความเหมาะสมและความเป็นไปได้อยู่ในระดับมากที่สุด
ตอนที่ 3 ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิด Active Learning เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทย โดยใช้หนังสืออ่านประกอบ ชุดสระพาเพลิน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล 5 บ้านกาหยี มีประสิทธิภาพเท่ากับ 85.01/84.13 เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 ปรากฏว่า สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ตอนที่ 4 ผลการประเมินผลการใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิด Active Learning เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทยโดยใช้หนังสืออ่านประกอบ ชุดสระพาเพลิน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล 5 บ้านกาหยี พบว่า นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และผลการประเมินความพึงพอใจต่อการใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิด Active Learning เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทยโดยใช้หนังสืออ่านประกอบ ชุดสระพาเพลิน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด