ชื่อผู้วิจัย จุฑารัตน์ บัวหุ่ง ตำแหน่งครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ
สถานศึกษา โรงเรียนราษีไศล สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อสำรวจสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการเชื่อมโยงและความสามารถด้านคำนวณ 2) เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการเชิงเนื้อหา เพื่อเสริมสร้างทักษะการเชื่อมโยง และความสามารถด้านคำนวณ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด 80 / 80 3 )เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนที่ได้รับการสอนโดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ แบบบูรณาการเชิงเนื้อหา 4 ) เพื่อเปรียบเทียบทักษะการเชื่อมโยงและความสามารถด้านคำนวณ ของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนที่ได้รับการสอนโดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ แบบบูรณาการเชิงเนื้อหา 5) เพื่อประเมินความพึงพอใต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการเชิงเนื้อหา กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนราษีไศล อำเภอราษีไศล จังหวัด ศรีสะเกษ จำนวน 40 คน ซึ่งเป็นชั้นเรียนที่เป็นผู้สอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการเนื้อหา แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และ แบบทดสอบวัดทักษะการเชื่อมโยงและความสามารถด้านคำนวณ แบบประเมินความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐานในการวิเคราะห์ ดังนี้ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติทดสอบที
ผลการวิจัยพบว่า
1. . ผลการวิเคราะห์ สภาพปัจจุบัน ปัญหาการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และความต้องการในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการเชื่อมโยงและความสามารถด้านคำนวณ พบว่า สภาพการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอนคณิตศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยรวมปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง การสอนโดยยึดเนื้อหาเป็นสำคัญและพยายามสอนให้จบเนื้อหานักเรียนคุ้นกับการฟังบรรยาย โดยส่วนใหญ่ไม่กล้าซักถาม ครูขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรม นักเรียนมีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ต่ำมาจากโรงเรียนเดิม นักเรียนขาดความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตรคณิตศาสตร์
2.การพัฒนาและประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการเชิงเนื้อหาเพื่อเสริมสร้างทักษะการเชื่อมโยงและความสามารถด้านคำนวณ เรื่อง ระบบจำนวนเต็ม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีประสิทธิภาพสูงกว่า 80 / 80
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่ได้รับการสอนโดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ แบบบูรณาการเชิงเนื้อหา มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
4. ทักษะการเชื่อมโยงและความสามารถด้านคำนวณของนักเรียนที่ได้รับการสอนโดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการเชิงเนื้อหา หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.01
5. การประเมินความพึงพอใจต่อการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ พบว่า ความพึงพอใจของนักเรียนที่เรียนโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด